โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
การบริหารภาษีให้เสียภาษีน้อยที่สุดนั้น เป้าหมายคือ ทำให้เงินได้สุทธิเราต่ำให้มากที่สุด โดยกลยุทธ์ทำลายเงินได้สุทธิ มี 3 กลยุทธ์หลักๆ คือ
๐ ลดเงินได้พึงประเมิน
๐ เพิ่มค่าใช้จ่าย
๐ เพิ่มค่าลดหย่อน
กลยุทธ์ที่ทำได้ง่าย แต่กลับไม่ค่อยมีใครทำ จนเป็นที่น่าเสียดายกับเงินภาษีที่สามารถประหยัดได้ แต่เราไม่ประหยัด ดังนั้นในวันนี้จึงขอคุยเกี่ยวกับค่าลดหย่อนที่น่าสนใจครับ
ค่าลดหย่อนเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กรมสรรพากรให้ โดยมีเป้าหมายหลายๆอย่างแล้วแต่ค่าลดหย่อนแต่ละตัว อย่างเช่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการออม เพื่อการสร้างสวัสดิการในอนาคต เพื่อการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ฯลฯ โดยค่าลดหย่อนสำหรับผมจะแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ
ค่าลดหย่อนแบบติดตัว คือ อยู่เฉยๆ ก็ได้ กรมสรรพากรให้เรามาฟรี ไม่ต้องทำอะไร อย่างเช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท,ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท เป็นต้น
ค่าลดหย่อนที่ต้องแสวงหาถึงได้ อย่างเช่น ค่าลดหย่อนคู่สมรส (กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้) 60,000 บาท, ค่าลดหย่อนบุตรคนละ 30,000 บาท (แถมปี 2561 นี้ มีการเพิ่มตัวค่าลดหย่อนบุตรในกรณีที่มีลูกคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะได้รับสิทธิเพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนรวมเป็น 60,000 บาท แถมโปรโมชั่นพิเศษค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท) ฯลฯ ซึ่งใครอยากได้ค่าลดหย่อนภาษีเยอะ ก็มีลูกเยอะๆ ยิ่งหลายคน ยิ่งลดหย่อนเยอะ แต่ดูแล้วไม่น่าคุ้ม ส่วนคู่สมรสมีเยอะก็ไม่ได้ช่วยให้ค่าลดหย่อนเยอะขึ้นครับ เพราะต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนเท่านั้น
แต่ก็มีค่าลดหย่อนที่ต้องแสวงหาบางอย่างที่คุ้มที่เราจะแสวงหา อย่างเช่น ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท RMF และ LTF ที่ลดหย่อนภาษีได้อย่างละไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท หรือ ประกันบำนาญ ที่ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และรวมกองทุนอื่นที่เพื่อเกษียณต้องไม่เกิน 500,000 บาท (ไม่รวมกองทุน LTF) เพราะเงินที่เราออม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเบี้ยประกันชีวิต ประกันบำนาญหรือ เงินลงทุนใน RMF หรือ LTF ก็ยังเป็นเงินออมของเราอยู่เหมือนเดิมไม่ได้จ่ายแล้วสูญ เหมือนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่เราใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
นอกจากเงินออมจะไม่สูญแล้ว เงินที่เราออมเมื่อเอาไปลดหย่อนภาษี เท่ากับทำให้เงินได้สุทธิของเราต่ำลง ทำให้เราเสียภาษีเงินได้น้อยลง ดังนั้นสำหรับคนที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเต็มจำนวนไปแล้ว (อย่างเช่นพวกมนุษย์เงินเดือน) ก็จะได้ภาษีที่เราถูกหักไปคืน ดีกว่ายอมเสียเงินภาษีให้กรมสรรพากรไปเปล่าๆ
ค่าลดหย่อนที่ต้องแสวงหามีอีกหลายตัว อย่างเช่น ค่าบริจาคโรงเรียน โรงพยาบาล ซึ่งลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แม้ว่าจะได้ภาษีคืนน้อยกว่าเงินที่บริจาค แต่ก็ถือว่าได้บุญ ได้ภาษีคืนเป็นผลพลอยได้
อีกค่าลดหย่อนสำหรับปีนี้ คือ ช็อปช่วยชาติ ลดหย่อนได้ 15,000 บาทแม้จะให้ลดหย่อนภาษีได้เฉพาะเงินที่ซื้อ ยางรถยนต์ หนังสือ สินค้า OTOP ก็ยังดีกว่าไม่มี สำหรับใครที่ต้องการซื้อของขวัญปีใหม่ ซื้อ OTOP หรือ หนังสือเป็นของขวัญปีใหม่ ก็ถือว่ากรมสรรพากรช่วยออกค่าของขวัญให้เราด้วย แต่ถ้าไม่ได้จำเป็นต้องซื้อ ก็ประหยัดไว้หน่อยก็ดีนะ
ส่วนอีกค่าลดหย่อน อย่าลืมกันนะ พักผ่อนกับงานที่หนักมาทั้งปี ไปเที่ยวเมืองรองกันลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท
จริงๆมีค่าลดหย่อนอีกหลายตัว อยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง ลองดูเว็บไซต์กรมสรรพากร หรือ เว็บด้านภาษีมีหลายเว็บนะ