ความจริงความคิด : Fail to plan = plan to fail

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เรื่องหนึ่งที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาตลอดชิวิตการทำงาน ก็คือ การทำงานอย่างมีระบบ โดย model หนึ่งของการทำงาน คือ PDCA

PDCA คือ วงจรบริหารงานคุณภาพที่เกิดขึ้นมาช่วงปี 1950’s โดย Dr. William Edward Deming บิดาแห่งการควบคุมคุณภาพสมัยใหม่ ซึ่งพัฒนามาจาก Walter Andrew Shewhart อาจารย์ของเขาอีกที ทำให้วงจรนี้มีชื่อเรียกอื่นว่า Deming Cycle หรือ Shewhart Cycle แนวคิดนี้ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน Plan-Do-Check-Act เป็นกระบวนการที่ใช้ปรับปรุงการทำงานขององค์กรอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นคือเป็นกระบวนการที่ทำซ้ำได้เรื่อย ๆ จนกลายเป็น วงจร สามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆนั่นเอง โดย

• P – Plan คือ การระบุและวิเคราะห์ปัญหา และสวางแผน
• D – DO คือ การปฏิบัติตามแผน
• C – Check คือ การตรวจสอบ ประเมินและสรุปผล
• A – Act คือ การปรับปรุงการดำเนินการ แก้ไขและวางแผนใหม่ต่อไป

ทุกขั้นตอนใน 4 ขั้นตอนนี้ล้วนสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น แต่หากถามว่าขั้นตอนไหนสำคัญที่สุด เรามาดูจากผู้ที่ประสบความสำเร็จกันนะว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับขั้นตอนไหนมากที่สุด

ในเอกสาร วิถึโตโยต้า (Toyota Way) ได้ตีพิมพ์คำกล่าวของอดีตผู้บริหารโตโยต้า TMMK ในรัฐ Kentucky สหรัฐอเมริกา ที่สะท้อนได้ถึงวัฒนธรรมองค์กร คือ

“ถ้ามีโครงการที่ต้องทำให้เสร็จใน 1 ปี บริษัทอเมริกันทั่วไปจะใช้เวลาวางแผนงาน 3 เดือน แล้วลงมือปฏิบัติ ซึ่งมักจะเจอปัญหาต่างๆมากมาย ทำให้เวลาที่เหลืออยู่ หมดไปกับการแก้ไขและทำให้ถูกต้องแต่ที่โตโยต้า เราจะใช้เวลา 9 เดือนไปกับการวางแผน จากนั้นเริ่มลงมือในขอบเขตเล็กๆ หรือโครงการทดลอง และขยายผลจนไปถึงเป้าหมายได้ตามกำหนดการ”

หรืออีกตัวอย่าง ก็คือ คำกล่าวที่เป็นอมตะประโยคหนึ่งของ Benjamin Franklin หนึ่งในรัฐบุรุษผู้สร้างชาติอเมริกา เกี่ยวกับความสำคัญของการวางแผน ก็คือ

“If You Fail to Plan, You Are Planning to Fail”

ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ว่า “ทำไมการวางแผนถึงสำคัญ?” เพราะการวางแผน คือ กระบวนการของการพิจารณาตัดสินใจล่วงหน้าว่าจะทำอะไร อย่างไรเพื่อวัตถุประสงค์อะไร มีทางเลือก ความเสี่ยง ปัญหาอะไรที่อาจเกิดขึ้น เพื่อวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้นต่อไป

การขาดการวางแผนที่ดี ก็เหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ทำให้เราอาจต้องสูญเสียทรัพยากร เวลา อย่างไม่สมควรเสีย หรือในที่สุดแผนงานนั้นอาจล้มเหลว (ดังรูปข้างล่าง)

ไม่เพียงแต่สูญเสียทรัพยากรที่ต้องใช้ในโครงการอย่างไม่ควรเสีย หลายครั้งทรัพยากรที่ควรเก็บไว้ใช้ในเรื่องอื่นก็เสียไปด้วย อย่างเช่น หากเราลงทุนโดยไม่มีการวางแผนที่ดี โอกาสที่จะสำเร็จย่อมมีน้อยเป็นเรื่องปกติ โอกาสขาดทุนย่อมมีมาก และเมื่อเราสูญเสียเงินในการลงทุน เราก็สูญเสียทรัพยากรสำหรับเป้าหมายสำคัญในชีวิตไปด้วย อย่างเช่น เรามักจะพบคนในวัยหนุ่มสาวหลายคนที่เลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารตลาดเงิน หรือ พันธบัตรรัฐบาลอายุสั้นๆ เหตุผลเพราะกลัวขาดทุน ทำให้สุดท้ายเงินที่เก็บไว้ยามเกษียณก็มีไม่พอ หรือ อย่างบางคนก็มุ่งวางแผนเพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างเดียว แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สุดท้ายเมื่อมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น ก็สูญเสียความมั่นคงทางการเงินไป เรื่องการบริหารความเสี่ยงนี้ ผมชอบที่ Jack Ma เคยกล่าวเกี่ยวกับการซื้อประกันไว้ว่า

“การซื้อประกัน มันเปลี่ยนชีวิตคุณไม่ได้หรอก แต่มันช่วยป้องกันไม่ให้คุณต้องเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เคยเป็นมาความเจ็บป่วยและบิลค่ารักษาพยาบาลจะเป็นตัวผลาญเงินที่เก็บออมของครอบครัวคุณคุณจะไม่ล้มละลาย เพราะคุณซื้อประกัน แต่คุณจะเป็นสาเหตุให้ครอบครัวของคุณต้องล้มละลาย หากคุณไม่ซื้อประกัน”

“ชีวิต คือ การลงทุน” สโลแกนของตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อหลายปีก่อน อยากประสบความสำเร็จในการลงทุน แผนต้องดี กลยุทธ์ต้องดี

“การลงทุนให้ประสบความสำเร็จคุณอาจจะไม่ต้องการไอคิวที่สูงมากเท่าไอน์สไตล์ แต่สิ่งที่คุณต้องการก็คือกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมซึ่งทำให้คุณสามารถที่จะตัดสินใจลงทุนได้อย่างดี และมีการควบคุมอารมณ์ได้ดี ไม่หวั่นไหวไปกับตลาดเกินไป”

Benjamin Graham

อยากประสบความสำเร็จในชีวิตก็ต้องเริ่มจากแผนที่ดีเช่นกัน