PCE ผู้นำรายใหญ่ ธุรกิจน้ำมันปาล์ม ชูจุดเด่นซัพพลายเชนครบวงจร

HoonSmart.com>>เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) ผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มรายใหญ่ภาคใต้   มองตลาดเติบโตต่อเนื่องทุกปี จากความต้องการทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น  ดันปริมาณการผลิตปีนี้ โตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5-10% พร้อมระดมทุน ไอพีโอ 750 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท เข้าตลาด SET ขยายโอกาสการเติบโตในอนาคต

บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) ผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มครบวงจร รายใหญ่ของจังหวัดสุราษฏร์ธานี ดำเนินธุรกิจ 40 ปี  และมีซัพพลายเชน ครบวงจร ผ่านบริษัทย่อย 5 บริษัท ประกอบด้วย

1.บริษัท นิว ไบโอดีเซล (NBD) ผลิต-จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล (B100) น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันพืชบริโภค “รินทิพย์”  โดยมีถังเก็บน้ำมันปาล์ม-ถัง B100 ทั้งหมด 80 แทงค์ มากที่สุดของประเทศ จัดเก็บได้ 100,000 ตัน

2.บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง (PACO) ธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่เบอร์ 1 ของไทย มีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศอินเดีย

3.บริษัท พี.เค. มารีน เทรดดิ้ง (PKM) ให้บริการคลังสินค้า-ท่าเทียบเรือ ขนาดเกิน 500 ตันกรอส  เป็นท่าเรือสินค้าขนาดใหญ่ของสุราษฏร์ ลูกค้าเช่น ธุรกิจปูนซิเมนต์ ฯ

4.บริษัท เพชรศรีวิชัย (PC) ให้บริการขนส่งสินค้าทางบกภายในประเทศ มีรถขนส่งกว่า 150 คัน เพื่อขนส่งน้ำมันปาล์ม สินค้าแห้งอื่น ๆ

5. บริษัท พี.ซี.มารีน (1992) (PCM) บริการขนส่งสินค้าทางเรือทั้งใน-ต่างประเทศ จำนวน 13 ลำ ขนาด 1,800-3,100 ตัน

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) เปิดเผยว่า  น้ำมันปาล์มดิบและไบโอดีเซล มีความต้องการใช้ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม มีโอกาสเติบโตในทิศทางที่ดี

สำหรับประเทศไทย ยังมีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกเพื่อการเกษตรอีกจำนวนมาก ซึ่งปาล์มน้ำมันเป็นพืชเกษตรสำหรับบริโภคและพลังงานที่มีต้นทุนถูกกว่าพืชชนิดอื่น จึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและยังมีความต้องการใช้ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายประกิต กล่าวว่า PCE ดำเนินธุรกิจน้ำมันปาล์มดิบ และซัพพลายเชน ครบวงจร มากกว่า 40 ปี ประกอบธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีธุรกิจโรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม รวมไปถึงธุรกิจซื้อมาและจำหน่ายน้ำมันปาล์มและผลผลิตพลอยได้อื่น ๆ พร้อมทั้งให้บริการด้านคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ รวมทั้งยังมีธุรกิจให้บริการขนส่งทางเรือและทางบก ทำให้เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้บริษัทมีความสามารถในการรองรับเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

แนวโน้มการดำเนินงานปี 2567 คาดว่า บริษัทจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% จากปี 2566 ที่มีปริมาณการผลิตกว่า 700,000 ตัน เนื่องจากอุปสงค์ของในการใช้น้ำมันปาล์มทั้งในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตปาล์มยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของความต้องการใช้ของทั่วโลก

“PCE มองว่าธุรกิจอุตสาหกรรมปาล์มยังมีแนวโน้มที่ดีและสดใสต่อเนื่อง เพราะความต้องการใช้มีมากกว่ากำลังการผลิต ขณะนี้ PCE เตรียมความพร้อมในทุกด้าน ทั้งความสามารถในการผลิต ระบบซัพพลายเชนที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการให้บริการกับลูกค้า และรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้ในอนาคตได้ ซึ่งจะทำให้เราก้าวสู่ความเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำมันปาล์มอย่างครบวงจร และสามารถต่อยอดธุรกิจจนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต” นายประกิต กล่าว

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้อนุมัติแบบคำขอในการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทแล้ว เตรียมเสนอขายหุ้น จำนวน 750 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท  เข้าจดทะเบียน SET กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร-AGRO หลังเข้าตลาดมีทุนชำระแล้ว 2,750 ล้านบาท

วัตถุประสงค์ในการระดมทุน บริษัทจะเน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) เช่น โรงสกัดน้ำมันปาล์ม รวมถึงลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และควบคุมต้นทุน อีกทั้งเพื่อต่อยอดหรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ส่วนที่เหลือใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ ของบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด และบริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักของกลุ่ม PCE

นายประกิต กล่าวว่า PCE มีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับองค์กรให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายโอกาสทางธุรกิจในอนาคต การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่ง ทั้งด้านฐานะการเงิน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต และยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม