คอลัมน์ความจริงความคิด : ประกันชีวิตไม่จ่ายกรณีไหนบ้าง ตอนที่ 2

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ครั้งที่แล้วเราพูดกันไป 3 กรณี ไม่ว่าจะเป็น การปกปิดข้อมูล หรือ ให้ข้อมูลเป็นเท็จ หรือ การไม่จ่ายเบี้ย รวมถึงการฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี ดูๆก็น่าจะครบหมดแล้ว แต่จริงๆยังมีกรณีอื่นๆอีก ดังนี้

4.ผู้เอาประกันถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตาย

ถ้าผู้เอาประกันภัยถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา บริษัทประกันชีวิตจะคืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยโดย
(1) หากกรมธรรม์ประกันชีวิตยังไม่มีเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต บริษัทจะอนุโลมคืนเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตที่ได้รับชำระมาแล้วทั้งหมดให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัย
(2) แต่ถ้ากรณีที่มีผู้รับประโยชน์มากกว่าหนึ่งคน หากผู้รับประโยชน์คนใดไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้เอาประกันภัยโดยเจตนา บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ที่ไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้เอาประกันภัยตามส่วน และหักส่วนของผู้ที่ฆ่าผู้เอาประกันภัยซึ่งไม่มีสิทธิ์ได้รับออก

5.ผู้เอาประกันเป็นบุคคลล้มละลาย

• กรณีเป็นบุคคลล้มละลายก่อนเป็นผู้เอาประกัน

ปกติแล้วบุคคลล้มละลายจะถูกห้ามทำนิติกรรมใดๆ ที่ไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้โอนย้ายทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายไปให้คนอื่น โดยทรัพย์สินที่มีอยู่ก็จะถูกยึดอายัดด้วย ไม่ว่าจะเป็นบ้านและที่ดิน สินทรัพย์ลงทุน ของมีค่า ฯลฯ ทรัพย์สินเหล่านี้จะถูกรวบรวมไว้เป็นกองทรัพย์สินเพื่อการบังคับชำระหนี้

การขอเอาประกันหรือการทำประกันชีวิตถือเป็นการทำนิติกรรมสัญญาประเภทหนึ่ง ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ เงินที่มีอยู่ก็เป็นสินทรัพย์ในกองทรัพย์สินเพื่อการบังคับชำระหนี้ จึงไม่สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นจึงเป็นข้อกำหนดทั่วไปว่า บุคคลที่จะทำประกันชีวิตต้องมีสุขภาพดี มีความสามารถหารายได้ ไม่ติดสารเสพติด ไม่ต้องโทษคดีอาญา และต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลายอีกด้วย

• กรณีเป็นบุคคลล้มละลายหลังเป็นผู้เอาประกัน

คือผู้เอาประกันทำประกันมาได้ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลายเป็นบุคคลล้มละลายภายหลัง กรณีนี้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจในการตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในกรมธรรม์ เพื่อบังคับทำการไถ่ถอนหรือเวนคืนกรมธรรม์ หรือดำเนินการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินได้ โดยมีกระทบดังนี้

1.กรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นจะถูกยึดอายัด ทำให้ผู้เอาประกันที่ตกเป็นบุคคลล้มละลายไม่มีสิทธิในกรมธรรม์อย่างเต็มที่อีกต่อไป การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันชีวิตจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์

2.ผลประโยชน์จากเงื่อนไขสัญญา ไม่ว่าจะเป็นเงินจ่ายคืนตามงวด หรือผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลจะถูกยึดอายัดไว้ทั้งสิ้น

3.กรณีกรมธรรม์มีมูลค่าเวนคืนเกิดขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์อาจขอเวนคืนกรมธรรม์ เพื่อแปลงกรมธรรม์เป็นเงินสด ก่อนนำเข้ารวมกับกองทรัพย์สินต่อไป
กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนกรมธรรม์ถูกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์เวนคืน กรณีนี้บริษัทประกันจะจ่ายเบี้ยที่ผู้เอาประกันส่งมาทั้งหมดคืนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ส่วนที่เหลือ คือ ทุนประกันหลังหักค่าเบี้ยประกัน บริษัทประกันจะส่งคืนให้ผู้รับผลประโยชน์

ส่วนกรณีผู้รับผลประโยชน์เป็นบุคคลล้มละลาย กรณีนี้บริษัทประกันจะไม่สามารถจ่ายเคลมค่าสินไหมได้ เนื่องจากผู้รับผลประโยชน์โดนพิทักษ์ทรัพย์ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ก็ไม่ควรให้ผู้รับผลประโยชน์ที่เป็นบุคคลล้มละลาย ควรเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นคนใหม่ดีกว่า

จะเห็นนะครับว่า มีหลายกรณีมากๆที่บริษัทประกันสามารถปฏิเสธการจ่ายสินไหมได้ตามกฎหมาย ดังนั้นหากเราต้องการประโยชน์จากการทำประกันจริงๆ จึงควรศึกษาสัญญากรมธรรม์ให้ดี และปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อกำหนดในสัญญา และที่สำคัญควรให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อประโยชน์ของเราเอง
 

อ่านบทความ

คอลัมน์ความจริงความคิด : ประกันชีวิตไม่จ่ายกรณีไหนบ้าง” ตอน 1