ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีนิติบุคคลด้วยการจัดอบรม


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ในยุคที่ทั่วโลกก้าวเข้าไปสู่ยุค AI ขณะที่อุตสาหกรรมไทยเองยังเป็นอุตสาหกรรมเก่า อย่างเช่น รถยนต์ที่ใช้ระบบน้ำมัน ขณะที่รถ EV กำลังได้รับความนิยม หรืออย่างเราอาจเชี่ยวชาญการผลิตคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แต่ปัจจุบันเขาใช้ smart phone กัน ฯลฯ ซึ่งก็จะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยเติบโตได้ยาก

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องของสถาบันการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงทุกๆองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐในการกำหนดทิศทาง ให้การสนับสนุนที่ถูกต้องเหมาะสม องค์กรเอกชนและภาครัฐที่เป็นนายจ้างก็ต้องพัฒนาการอบรม ศึกษาของพนักงานเพื่อให้พนักงานมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจใหม่ที่องค์กรจะก้าวต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบุคลากรเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่ายสูง หลายองค์กรที่ไม่เห็นถึงความสำคัญของคุณภาพพนักงานจึงเลือกวิธีการไม่พัฒนาบุคลากรแทน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
แต่การพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งจำเป็นต่อความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในภาครัฐเองจึงใข้นโยบายทั้งภาคบังคับและภาคสนับสนุนในการอบรมสัมมนา ดังนี้

ภาคบังคับ

• ผู้ประกอบกิจการประเภทอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือธุรกิจอย่างอื่นซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปทุกท้องที่ ถ้าไม่จัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน หรือจัดฝึกอบรมแต่ไม่ครบตามสัดส่วน 50% ของลูกจ้างทั้งหมดในแต่ละปีปฏิทิน ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (สูตรการคำนวณเงินสมทบ = { (ฐานค่าจ้าง x 30) x จำนวนลูกจ้างที่ไม่ได้จัดให้มีการฝึกอบรมในสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด x จำนวนเดือน} ÷100

โดย ฐานค่าจ้าง คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดเป็นอัตราเดียวกันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่ผู้ประกอบกิจการจ่ายในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการส่งเงินสมทบ โดยให้พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างก่อนปีที่มีการส่งเงินสมทบ

ภาคสนับสนุน

ผู้ประกอบกิจการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มอีก 100 % สำหรับค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในการจัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548 หรือพูดง่ายๆ คือ จ่าย 1 ได้ 2 คือ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมที่จ่ายจริง ทำให้กำไรสุทธิลดน้อยลง เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลง จาก สมการการคิดภาษีเงินได้นิติบุคคลของสรรพากร โดยทั่วไปจะคิดในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ

กำไรสุทธิ = รายได้ – รายจ่าย

ดังนั้น หากต้องการประหยัดภาษีเงินได้นิติบุคคล เราต้องทำรายจ่ายให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างรายจ่ายที่สามารถเอามาคำนวณเป็นรายจ่ายเพื่อคิดภาษีได้มากกว่ารายจ่ายที่จ่ายจริง ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมคือหนึ่งในรายจ่ายที่หักเป็นรายจ่ายในการคิดภาษีได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริง จึงช่วยในการประหยัดภาษีเงินได้นิติบุคคลมาก

ตัวอย่าง

-รอบปีภาษีหนึ่ง สถานประกอบกิจการมีรายจ่ายทั้งหมด 1,000 บาท (รายจ่ายทั่วไป 800 บาท + รายจ่ายค่าฝึกอบรม 200 บาท)
-รอบปีภาษีนั้นมีรายได้ 3,000 บาท

นำรายได้ทั้งหมด 3,000 บาท ลบ รายจ่ายทั้งหมด 1,000 บาท (รายจ่ายทั่วไป 800 บาท + รายจ่ายค่าฝึกอบรม 200 บาท) เพื่อเป็นกำไรสุทธิก่อนคำนวณภาษี
3,000 – 1,000 = 2,000 บาท

นำรายจ่ายค่าฝึกอบรม หักออกจากกำไรสุทธิก่อนคำนวณภาษี โดยกรอกในใบแนบรายได้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้หรือรายจ่ายที่มีสิทธิหักได้เพิ่มขึ้น
2,000 – 200 = 1,800 บาท

ดังนั้น เสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิเพียง 1,800 บาท

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นองค์กรผู้นำธุรกิจของไทยหลายบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของตนเองมาก เพราะไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรยังช่วยประหยัดภาษีดังที่ได้กล่าวมา