คอลัมน์ความจริงความคิด : เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ตอนที่ 2

โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ครั้งที่แล้ว เราได้คุยกันไปแล้วว่าเงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยตายบริษัทที่รับประกันก็จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันระบุไว้สืบเนื่องจากความตายของผู้ตาย เงินที่ได้จากประกันชีวิตนี้จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนหรือมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย

ดังนั้น เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตเนื่องจากไม่ใช่มรดกจึงไม่ตกทอดไปสู่ทายาทไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรม แต่จะตกกับคนที่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต

ดังนั้นเงินประกันชีวิตจึงต่างจากทรัพย์สินและหนี้สิน ตรงที่ทรัพย์สินและหนี้สินจะตกไปยังทายาทโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือทายาทผู้รับพินัยกรรม แต่เงินประกันชีวิตจะตกแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตเท่านั้น

นอกจากนี้เงินประกันชีวิตที่ระบุผู้รับประโยชน์ เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดอายัดได้ทั้งหมดเหมือนมรดก เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินของเจ้ามรดก ดังนั้นคุณสามีภริยาทั้งหลายก็อย่าประมาทนะครับ ควรตรวจสอบให้ดีว่าคู่ชีวิตเรามีไปแอบทำประกันชีวิตแล้วระบุชื่อผู้รับประโยชน์เป็นคนอื่นหรือเปล่า ? ไม่งั้นคุณกับลูกก็ต้องรับผิดชอบแต่หนี้สินที่เขาก่อเอาไว้หัวโต โดยที่ไม่มีเงินก้อนอื่นมาช่วยเหลือในการใช้ชีวิตต่อได้เลยนะครับ

และเพื่อไม่ให้เงินประกันชีวิตมีปัญหา ก็ควรระบุผู้รับประโยชน์ให้ชัดเจนเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง สามี-ภรรยา คนรัก ฯลฯ เพราะมิฉะนั้นเงินที่เราพากเพียรผ่อนจ่ายให้กับบริษัทประกันมาตลอดชีวิตทั้งหมดรวมกับดอกเบี้ยที่เป็นผลประโยชน์ของเราก็จะกลายเป็น “กองมรดก” ที่เจ้าหนี้ของเราสามารถเข้ามายึดครองได้ทั้งหมด

อ้าว งั้นถ้าเราเป็นหนี้เยอะๆ ก็เลี่ยงด้วยการทำประกันชีวิตเยอะๆ เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถมาตามรังควานลูกหลานเราหรือมายึดเงินประกันได้ก็ดีสิ อ๊ะๆ อย่าเพิ่งดีใจครับ กฎหมายก็ป้องกันความเห็นแก่ตัวของผู้ที่ชอบก่อหนี้แล้วเอาเงินไปซื้อประกันชีวิตกับบริษัทประกัน ด้วยการระบุชื่อผู้ได้รับประโยชน์ไว้ โดยกฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้สามารถยึดหนี้ได้จากจำนวนเงินเบี้ยประกันที่ส่งให้บริษัทประกันได้เหมือนกัน แต่ไม่มีสิทธิยุ่งเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่เป็นผลประโยชน์ ชักงง

เรามาดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ อย่างเช่น หากเราเสียชีวิต ทายาทเราต้องได้เงินทั้งหมดจากการเสียชีวิตของเรา 2,000,000 บาท ซึ่งมาจากเบี้ยประกันที่เราจ่ายทั้งหมดก่อนเสียชีวิตจำนวน 500,000 บาท เบี้ย 500,000 บาทนี้ทายาทเราซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ต้องส่งให้กับกองมรดก ทำให้เจ้าหนี้ของเราสามารถเข้ามายึดหนี้ได้จากวงเงิน 500,000 บาทนี้ได้เท่านั้น ทั้งนี้กฎหมายออกอย่างนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้ทำประกันภัยทำสัญญาโดยการเอาเปรียบเจ้าหนี้กองมรดกนั่นเองครับ

หรืออีกกรณีที่มีคนถามกันมา คือ กรณีที่หากเราเป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์ เราในฐานะผู้รับประโยชน์ก็เลยรีบบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันภัยว่าจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น เพราะกฎหมายบอกไว้ว่า ถ้าผู้รับผลประโยชน์ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตและได้มีจดหมายไปแจ้งให้บริษัทประกันชีวิตทราบว่าตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต กรมธรรม์เลขที่_____ ในกรณีที่มีการส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับประโยชน์ และผู้รับผลประโยชน์ได้มีหนังสือถึงผู้รับประกันภัยแล้ว กรณีนี้ผู้เอาประกันจะเปลี่ยนชื่อผู้รับประโยชน์ไม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้ถ้าเราในฐานะผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกัน เงินประกันก็จะตกเป็นของทายาทของเราซึ่งผู้รับผลประโยชน์ ไม่ตกอยู่ในกองมรดกของผู้เอาประกันใช่หรือไม่

กรณีขอตอบเลยครับ ไม่ใช่ครับ เพราะสัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาที่ผู้เอาประกันระบุให้ประโยชน์เฉพาะกับผู้รับประโยชน์เท่านั้น ดังนั้นถึงแม้ว่าผู้รับประโยชน์จะมีหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันภัยว่าจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น หากผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้เอาประกัน ประโยชน์ของสัญญาประกันนั้นก็จะกลับไปที่ผู้เอาประกัน

ดังนั้นกรณีนี้หากผู้เอาประกันเกิดไม่ได้เปลี่ยนผู้รับประโยชน์ ก็ถือว่าไม่มีผู้รับผลประโยชน์

ฉะนั้น หากต่อมาผู้ทำประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตนั้นก็จะตกเป็นกองมรดก ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากกองมรดกนี้เพื่อเอาชำระหนี้ได้ และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนย่อมได้ส่วนแบ่งเท่าๆ กันครับ
อ่านบทความอื่นๆ
คอลัมน์ความจริงความคิด : เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ตอนที่ 1