คอลัมน์ความจริงความคิด : เงินประกันชีวิตไม่ใช่มรดก ตอนที่ 1

โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ผมเคยถามคนเป็นพ่อเป็นแม่หลายๆคนว่า อะไรสำคัญมากที่สุดในชีวิต เกือบทั้งหมดตอบว่าลูก และเป็นคำตอบเดียวที่ตอบแล้ว คนที่นั่งข้างๆไม่โกรธ เพราะไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ ลูกก็คือแก้วตาดวงใจเหมือนกัน และถ้าถามให้ลึกไปอีก ห่วงลูกตอนไหนมากกว่ากัน ถ้าเทียบระหว่างตอนที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่ กับตอนที่ตัวเองตายไปแล้ว ทุกคนตอบเหมือนกันอีกครับ “ห่วงตอนที่ตัวเองมีชีวิตอยู่มากกว่า เพราะตายแล้วไม่มีความรู้สึกอะไรอีกแล้ว” อ้าว งั้นถามเพิ่มเลย “แล้วถ้าเกิดหลังตาย วิญญาณมีจริง เรายังมีความรู้สึก มีสติทุกอย่างเหมือนตอนมีชีวิตอยู่ แต่ต่างกันแค่อย่างเดียว คือ ทำอะไรไม่ได้ ตอนไหนห่วงลูกมากกว่ากัน ระหว่างตอนมีชีวิตอยู่กับตอนตายแล้ว”

พวกเราตอบว่าตอนไหนครับ
คนเป็นพ่อเป็นแม่ส่วนใหญ่ตอบว่า “ตอนตายแล้ว ห่วงลูกมากกว่า เหตุผลเพราะตั้งแต่มีข่าวภาษีมรดกเกิดขึ้น ขนาดว่าตามข่าวล่าสุดจะเก็บจากกองมรดกที่มีขนาด 50 ล้านบาทขึ้นไปในอัตราภาษี 10% อัตราเดียว โดยจะจัดเก็บจากทรัพย์สินที่มีการลงทะเบียนเอาไว้อย่างชัดเจน เพราะสามารถตีราคาสินทรัพย์ที่เป็นปัจจุบันได้ ทำให้สะดวกในเรื่องของการคำนวณราคา และการคำนวณภาษี เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินฝากในบัญชีของธนาคาร พันธบัตร ตราสาร และหุ้น เป็นต้น ส่วนทรัพย์สินที่ไม่มีการลงทะเบียน เช่น เครื่องประดับ พระเครื่องและวัตถุโบราณ เป็นต้น จะไม่นำมาคำนวณในการเก็บภาษีมรดก ซึ่งข่าวนี้ก็ยังไม่แน่นอนอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะยังอยู่ในขั้นตอนกรมสรรพากรส่งร่างกฎหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้ว และยังต้องรอการชี้แจงร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากรถึงจะเสนอร่างกฎหมายให้รัฐบาลพิจารณาเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป

ก็มีหลายคนกังวลถามผมว่า แล้วเงินประกันชีวิตจัดเป็นมรดกที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ เพราะเข้าใจว่าเงินประกันชีวิตในกรณีที่ผู้ทำประกันชีวิตเสียชีวิตจะเป็นกองมรดกตกทอดแก่ทายาท

ก่อนตอบคำถามนี้ เรามาดูความหมายของคำว่า มรดก กันก่อนนะครับ มรดกคือทรัพย์สินของ ผู้ตาย ทรัพย์สินนั้นจึงต้องเป็นของผู้ตายอยู่ แล้วในเวลาที่ถึงแก่ความตาย เมื่อความตายเป็นเหตุให้ผู้ตายสิ้นสภาพบุคคลนับแต่ตายแล้วเป็นต้นไป ผู้ตายก็ไม่อาจมีสิทธิหรือหน้าที่ได้ ดังนั้น ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะความตาย หรือหลังจากนั้นไปก็ไม่อาจนับได้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ตาย จึงไม่เป็นมรดกของผู้ตาย ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะเหตุที่บุคคลถึงแก่ความตายนั้น เป็นการถือเอาความตายของบุคคลมาเป็นเหตุให้ต้องชำระเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแก่กัน ตัวอย่างเช่น เงินบำนาญตกทอดซึ่งทางราชการจ่ายให้ในกรณีที่ข้าราชการถึงแก่ความตาย เงินทุนสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลืองานศพและอุปการะบุตรของสมาชิกที่ถึงแก่ความตาย เงินทดแทนที่นายจ้างจ่ายให้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อลูกจ้างถึงแก่ความตาย เป็นต้น

จากความหมายของมรดกดังกล่าว ทรัพย์สินที่ผู้ตายยกให้แก่ผู้ใดระหว่างมีชีวิต ก็ไม่เป็นมรดก จึงไม่ตกทอดแก่ทายาท และเจ้ามรดกจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ดังกล่าวให้แก่ผู้ใดอีกไม่ได้
ทรัพย์สินที่ได้มาเพราะเหตุที่บุคคลถึงแก่ความตายก็ไม่เป็นมรดก ดอกผลของทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตาย ไม่เป็นมรดก

เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้เอาประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยตายบริษัทที่รับประกันก็จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ที่ผู้เอาประกันระบุไว้สืบเนื่องจากความตายของผู้ตาย เงินที่ได้จากประกันชีวิตนี้จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนหรือมีอยู่ในขณะถึงแก่ความตาย ดังนั้น เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตเนื่องจากไม่ใช่มรดกจึงไม่ตกทอดไปสู่ทายาทไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมเช่น คู่สมรสตามกฏหมาย, บุตร ฯลฯ หรือทายาทผู้รับพินัยกรรมตามพินัยกรรม แต่จะตกกับคนที่มีชื่อเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตครับ

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่๔๗๑๔/๒๕๔๒ เงินประกันชีวิตเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายและบุคคลภายนอกและจำเลยเพื่อให้ใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์สืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต สิทธิตามสัญญาเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงมิใช่มรดกของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะถึงแก่ความตายที่โจทก์จะใช้สิทธิแบ่งได้

เว้นแต่ในกรณีหากผู้รับผลประโยชน์ตายก่อนผู้ทำประกันชีวิต สิทธิในการรับเงินประกันชีวิตนั้นก็จะระงับ และไม่ตกแก่ทายาทของผู้รับผลประโยชน์ เพราะสิทธินั้นจะเกิดก็ต่อเมื่อผู้ทำประกันชีวิตถึงแก่ความตาย และเป็นสิทธิเฉพาะตัว เมื่อผู้รับผลประโยชน์ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนผู้ทำประกันชีวิต และผู้ทำประกันชีวิตไม่มีการแจ้งบริษัทประกันชีวิตเพื่อเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นคนใหม่ ก็ถือว่าไม่มีผู้รับผลประโยชน์ ฉะนั้น หากต่อมาผู้ทำประกันชีวิตถึงแก่ความตาย เงินประกันชีวิตนั้นก็จะตกเป็นกองมรดก ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากกองมรดกนี้เพื่อเอาชำระหนี้ได้ และทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทุกคนย่อมได้ส่วนแบ่งเท่าๆ กัน

หรืออีกกรณีคือ ข้อยกเว้น ตามกฏหมาย (ป.พ.พ.มาตรา 897) ที่ว่า หากผู้เอาประกันภัยกำหนดให้ใช้เงินแก่ทายาท โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้ใดไว้ เงินนั้นก็จะตกเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของกองมรดก

ดังนั้นใครที่ทำประกันชีวิตไว้ให้ลูกหลานเยอะๆสบายใจได้ครับ ไม่ใช่มรดก ไม่โดนภาษีมรดกครับ แต่…อิจฉาคนที่ถามมากๆครับ เพราะแสดงว่าต้องมีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านบาทแน่ๆเลย