“สมาคมประกันชีวิตไทย”คาดธุรกิจโต 4% ทำใจรับเบี้ยสุขภาพเพิ่ม

HoonSmart.com>>สมาคมประกันชีวิตไทยคาดปี’67 เบี้ยทั้งระบบ  6.58 แสนล้านบาท โต 4% ผลจากสังคมสูงวัย โรคอุบัติใหม่ ค่ารักษาแพง หนุน กูรูคาดอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ไทยยังคงสูงที่ 9.27% ดันเบี้ยสุขภาพขึ้น ไม่รอเคลมกินพอร์ต รุดหารือคปภ.

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ในช่วง 2.0 – 4.0% (คาดเบี้ยประกันรับรวมอยู่ประมาณ 646,113-658,782 ล้านบาท) จากปี 2566 ที่มีเบี้ยรับรวม 633,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.61% จากปี 2565 โดยลูกค้าเก่ามีการจ่ายเบี้ยประกันภัยต่อเนื่องอยู่ที่ 83% ถือว่าดี ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่กระทบ

ทั้งนี้ การเติบโตที่ 2.0 – 4.0% สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.2 – 3.2% ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสคนรักสุขภาพ หลังเกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด – 19 สายพันธุ์ใหม่ และมลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น แนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น(Medical Inflation) ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) ทำให้ประชาชนใช้ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ ประกันสุขภาพ ในการบริหารความเสี่ยง และวางแผนการเงินช่วงวัยเกษียณกันมากขึ้น เพราะเป็นการออมรูปแบบหนึ่งและมีความเสี่ยงต่ำ และยังลดหย่อนภาษีได้ด้วย

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจมีการใช้เทคโนโลยี เช่น AI และ Data Analytics ในการทำธุรกิจ ทำให้ทุกกระบวนการ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเสนอขาย การพิจารณารับประกันภัย การพิจารณาสินไหม ไปจนถึงการส่งมอบบริการและธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น

สำหรับ ประกันสุขภาพมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนค่อนข้างสูง และพบว่าการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็มีค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยปีนี้เบี้ยประกันสุขภาพจะขึ้นอีก ยังไงก็จะขึ้น เพราะต้นทุนสูงขึ้นตาม Medical Inflation หรืออัตราเงินเฟ้อจากค่ารักษาพยาบาล ที่ไม่มีใครคุมได้ แต่อยากให้ขึ้นแบบช้าที่สุด ซึ่งจะขึ้นอย่างไรหรือแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท เพราะได้รับผลกระทบต่างกัน แต่มีการคุยกันในหลักการทุกบริษัทก็เห็นด้วยที่จะยืดเวลาการขึ้นเบี้ยให้ช้าที่สุด และมีความยั่งยืน เพราะถ้าปล่อยให้เคลมกินทั้งพอร์ต บริษัทก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เรื่องนี้จะมีการนำไปหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แต่ขอย้ำว่าสถานพยาบาลก็เป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีกับบริษัทประกันชีวิต พยายามร่วมกันหาทางตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ดีและยืนได้อย่างยั่งยืน

“เบี้ยสุขภาพจะคิดจากจากสถิติการเจ็บป่วยของลูกค้าตามกลุ่มอายุที่จะมีการปรับทุกปี คิดจากประชาชนในแต่ละพื้นที่ซึ่งจะมีการปรับทุกๆ 5 ปี และคิดจากอัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเพิ่มทุกปี “นายสาระ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท ทาวเวอร์ส วัทสัน (WTW) ผู้ให้บริการโซลูชั่นและข้อมูล การบริหารความเสี่ยงด้านบุคคล การลงทุน การเงิน คาดว่าปี 2567 อัตราเงินเฟ้อด้านค่ารักษาพยาบาลของไทยจะอยู่ที่ 9.27% ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 10.67% ในขณะที่อินโดนีเซีย คาดว่าจะอยู่ที่ 12.74% มาเลเซีย อยู่ที่ 13.36%F ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 13.39%F สิงคโปร์ อยู่ที่ 10.67%F เกาหลีใต้ อยู่ที่ 11.67%F ไต้หวัน ต่ำสุดคาดว่าจะอยู่ที่ 6.25% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 และเวียดนามอยู่ที่ 11.33%F

สาเหตุสำคัญมาจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลสูงขึ้น แต่เริ่มจะลดลงแล้วในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ตลาดเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จึงคาดว่าต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอีก 3 ปีข้างหน้า