“สมาคมประกันฯ”ชูแนวคิด ESG บริหารความเสี่ยงแบบมืออาชีพ

HoonSmart.com>>สมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดสัมมนาการประกันภัย ครั้งที่ 28 ชูแนวคิด ESG เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยสู่ความยั่งยืน เพื่อเสริมความเข้มแข็งและขีดความสามารถของธุรกิจประกันวินาศภัยในการทําหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงให้กับภาครัฐและเอกชนแบบมืออาชีพ 

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การดําเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Business Sustainability) ถือเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสําคัญมากขึ้นเป็นลําดับโดยเฉพาะในเวทีระดับนานาชาติ ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัยนั้น องค์การสหประชาชาติได้ร่วมกับธุรกิจประกันภัยจัดทําหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน หรือ Principles for Sustainable Insurance มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 เพื่อกําหนดกรอบการดําเนินธุรกิจประกันภัยในระดับนานาชาติ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ESG

สําหรับภาคธุรกิจประกันภัยไทยนั้น สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้บรรจุเรื่อง ESG ไว้ในแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 ซึ่งครอบคลุมการดําเนินการของสํานักงาน คปภ. ในช่วงปี 2564 – 2568 โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ในขณะที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีการกําหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และแผนการดําเนินงานที่สอดคล้องกัน คือ การกําหนดวิสัยทัศน์ให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน และการกําหนดพันธกิจของสมาคมฯ ในการส่งเสริมให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจประกันวินาศภัยถือเป็นธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากของระบบนิเวศประกันภัย เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด พฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศซึ่งก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเกิดขึ้นของความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยากต่อการบริหารจัดการก่อให้เกิดความท้าทายในการดําเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้นเป็นลําดับ

ด้วยเหตุนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและวิชาการประกันภัย จึงได้จัดสัมมนาการประกันภัยครั้งที่ 28 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Sustainable Insurance for Sustainable and Resilient Economy” เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต และสามารถทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเปี่ยมด้วยความรู้และประสบการณ์ใน 3 เสาหลักของความยั่งยืน ได้แก่ 1) การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม 2) การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม และ 3) ธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ (Environment, Social, and Governance: ESG) มาเติมเต็มแนวคิด ESG และแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ดร.เสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐและกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ,นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มทรัพยากรบุคคล บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Social Bank” Making Positive Impact on Society ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ และนายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ที่ปรึกษามูลนิธิรากแก้ว คณะกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลบางปะกอก-ปิยะเวท อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Social Enterprise” Doing Good and Doing Well

ดร.เสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐและกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Navigating Human Capital and Culture Transformation for ESG-Driven Society”กับ 3 ด้านใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1.ESG และ Sustainability ไปด้วยกัน 2.แนวโน้มของ ESG และ 3. ธุรกิจประกันภัยกับ ESG

1.ESG และ Sustainability  จะเป็นเรื่องที่จะต้องทำตลอดไป โดย ESG เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะนำมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืน( Sustainability)ให้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ในระบบนิเวศน์ของความยั่งยืน และกำลังกลายเป็นภาคบังคับโดยทิศทางใหญ่ของโลกที่ภาคธุรกิจจะต้องทำตาม

ในมุมของ ESG ที่บริษัทจะต้องดำเนินการ คือ การพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการทำธุรกิจที่มีผลต่อโลก ต่อบริษัท เช่น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้แรงงานที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ ทั้งที่เกิดจากบริษัท บริษัทลูก และซัพพลายเออร์ ที่ต้องดำเนินการลด เปลี่ยน หรือ เลิกกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ หันไปสู่การทำงานตามแนวทาง ESG  เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและโลก อีกมุมคือ โลกสร้างความเสี่ยงอะไรให้กับบริษัทบ้าง ต้องช่วยกันลดความเสี่ยงนั้น

2.แนวโน้มของ ESG เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะหลายประเทศในหลายภูมิภาคมีการออกกฎมาแล้ว อาทิ สินค้าที่ไม่มีการทำดิวดิลิเจ้นท์ไม่ให้เข้าประเทศ เช่น ลิปสติกที่ผลิตที่เกิดจากการใช้น้ำมันปาล์มที่ไปทำให้ป่าร้าง หรือ สินค้าขนมกรุบกรอบต้องไม่ได้ผลิตจากการใช้แรงงานเด็ก ในขณะที่ยุโรป มีมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) เริ่มใช้ 1 ต.ค.นี้

ที่หนักกว่า CBAM คือ EUDR คือสินค้าที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป (EU) ต้องปราศจากการทำลายป่า บังคับใช้ปลายปีนี้ ครอบคลุมสินค้า 7 รายการ คือ ยางพารา น้ำมันปาล์ม โกโก้ กาแฟ วัวเป็นตัวๆ และถั่วเหลือง ถ้าไม่สามารถชี้แจงได้ว่าไม่ได้ทำลายป่า จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น อย่างพืช ต้องชี้แจงได้ว่าปลูกในแปลงไหนในพิกัดของแผนที่ แล้วทาง EU จะใช้ดาวเทียมตรวจสอบและเปรียบเทียบทันที

3. ธุรกิจประกันภัยกับ ESG จากการที่ PWC ไปสำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทประกันภัยพบว่า มีความกังวลเรื่อง คือ ตัว S  ตัว E มีความเข้าใจมากขึ้น ส่วนตัว G เหมือนจะเข้าใจดีที่สุดแต่มีปัญหา และ 51% กังวลสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง 69% กังวลเรื่อง Social และตัว G คือกังวลด้านค่าตอบแทนของผู้บริหาร

นอกจากนี้ บริษัทประกันวินาศภัย ยังมีเรื่องมาตรฐานบัญชี และการรายงาน ด้าน ESG คือ ในปี 2568 อาทิ ถ้ามี Gross Written Premieum เกิน 40 ล้านบาท และลูกจ้างเกิน  250 คนใน EU จะต้องรายงานในบัญชี หรือ มีกิจกรรมร่วมกับบริษัทใน EU ก็ต้องรายงาน บริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทใน EU ให้เตรียมปรับระบบบัญชีและการรายงานไว้ให้พร้อม

ในขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการกำหนดผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัด ESG หมวดประกันภัยและประกันชีวิต ออกมาแล้ว อาทิ ให้รายงานความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมาย แผนงาน และมาตรการบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมิติสังคม ผลิตภัณฑ์สร้างโอกาสทางการเงินและการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

ด้านการลงทุน ต้องลงทุนในในบริษัทที่มีการทำ ESG เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจเข้าสู่ ESG เร็วขึ้น โดยสมาคมประกันวินาศภัยควรจะกำหนดแนวทางหรือเป้าหมายให้ชัดเจน

“วันนี้ถ้าจำอะไรไม่ได้ ให้จำเรื่อง ความรับผิดชอบต่อโลกของเรา จะเป็นแผนการดำเนินชีวิตว่า เราจะมีส่วนรับผิดชอบโลกใบนี้อย่างไรให้โลกดีขึ้น ทั้งการลดความเสี่ยง และสร้างโอกาสให้โลกในเวลาเดียวกัน”ดร.เสรี กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ความคิดเห็นของวิทยากรท่านอื่นๆ จะนำเสนอในโอกาสต่อไป