BYD-EA ขายคาร์บอนเครดิตให้”สวิส”แล้ว แบ่งรายได้ 50:50 ครั้งแรกของโลก!!

HoonSmart.com>>ครั้งแรกของโลก! “บล.บียอนด์” (BYD) จับมือ “พลังงานบริสุทธิ์” (EA ) ส่งมอบคาร์บอนเครดิตจาก TSB ตามโครงการ Bangkok E-Bus ให้สวิตเซอร์แลนด์ นับเป็นความสำเร็จในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศครั้งแรกของโลก สนับสนุนให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคม เศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอนฯ อีกทั้งสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยเป็นแรงกระตุ้นที่ดีสำหรับภาคเอกชนพัฒนาโครงการที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม  โครงการนี้ BYD-EA แบ่งรายได้บริษัทละ 50%

บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) ประกาศความสำเร็จจากการจับมือกับบริษัท ไทย สมายล์ บัส (TSB) เข้าทำโครงการความร่วมมือกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์  หรือ EA  ได้เริ่มทยอยส่งมอบคาร์บอนเครดิตจากโครงการ “รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” (Bangkok E-Bus Programme) ของ TSB แล้ว ให้กับหน่วยงานของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศเกิดขึ้นเป็นผลสำเร็จ

สำหรับโครงการ Bangkok E-Bus เป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2 ผ่านกรอบความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องเป็นโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่อยู่นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานของประเทศ (Nationally Determined Contributions :NDC) มีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยมี Klik Foundation เป็นผู้จัดซื้อ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นและนำ Carbon Credit ดังกล่าวไปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

“ทาง BYD เข้าถือหุ้นโดยอ้อมใน TSB ตั้งแต่ปลายปี 2564 และได้ร่วมมือกับ EA ในการศึกษาและพัฒนาโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการ Bangkok E-Bus Programme มาตั้งแต่กลางปี 2565 และ BYD ได้เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินกับ TSB ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 โดยมุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะของไทยให้ก้าวไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่ไม่มีการปล่อยไอเสีย ทันสมัย ลดมลพิษทางอากาศและทางเสียง นอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงแล้ว ยังเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อันจะเป็นส่วนสำคัญในการร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย”

นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายงานสนับสนุน) บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์  เปิดเผยว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ จะทำให้ TSB ซึ่งเป็นบริษัทร่วมโดยอ้อมที่ BYD ให้การสนับสนุนการดำเนินงานอยู่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากการส่งมอบคาร์บอนเครดิตในโครงการนี้ตามปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง ประมาณ 50% เท่ากับ EA ซึ่งจะผันแปรไปตามการใช้งานของรถ E-Bus จึงเป็นผลดีต่อผลการดำเนินงานของ TSB  ทั้งนี้ การส่งมอบครั้งนี้เป็นคาร์บอนที่เกิดขึ้นในปี 2565 และส่งมอบในปี 2566

นอกจาก BYD จะมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเพื่อนนักลงทุนแล้ว ยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่น่าสนใจ และมีศักยภาพที่จะสร้างผลตอบแทนในระยะยาว โดยตั้งเป้าหมายที่จะร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังเช่นโครงการ Bangkok E-Bus นี้จึงอยากเชิญชวนทุกท่านให้มาร่วมมือทำให้โลกและประเทศไทยน่าอยู่ขึ้นมาก

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการโครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์  เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 ซึ่งรถโดยสารประจำทาง EV นี้เป็นโครงการอันดับแรกๆ ของโลกที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสำเร็จ โดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้ไทยก้าวเข้าสู่สังคม เศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอนฯ อีกทั้งสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเป็นแรงกระตุ้นที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald Head International, Klik Foundation กล่าวว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 นั้น มีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง เพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงนามในความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส 6.2 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 โดยสัญญาแบบทวิภาคีกำหนดกรอบความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างแนวทางสำหรับ การพัฒนาโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศและเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป