โดย..สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ถ้าเป็นซีรีย์ ก็ EP สุดท้ายแล้ว เหนื่อยทั้งคนเขียน เหนื่อยทั้งคนอ่าน แต่ถ้ามีประโยชน์ มีคนสำเร็จแค่คนเดียว ก็คุ้มเหนื่อย เพราะอย่างที่เคยว่า กฎทอง 10 ข้อก็เป็นแค่กฎ ไม่ใช่สูตรลับพิเศษอะไรเลย สำคัญคือ “ทำหรือไม่” ถ้า “ทำ” ก็ “สำเร็จ” ถ้า “ไม่ทำ” กฎก็จะกลายเป็น “กด” คือ กดชีวิตเราให้ยากที่จะประสบความสำเร็จ
8. มีประกันที่เหมาะสมทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันทรัพย์สิน ประกันหนี้สิน
ทุกที่มีความเสี่ยง ทุกเวลามีความเสี่ยง บางอย่างที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิด ก็เกิดขึ้นได้ อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหว ตึกถล่มที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างคาดไม่ถึง บางอย่างคาดคิดว่าอาจจะเกิดแต่ไม่คิดว่าจะเกิดเร็วขนาดนี้ อย่างเช่น การเป็นโรคร้ายแรง
เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ดีอันหนี่ง คือ ประกัน ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันทรัพย์สิน ประกันหนี้สิน เพื่อที่เราจะได้ถ่ายโอนความเสี่ยงที่จะเกิดกับเราให้บริษัทประกันเป็นผู้รับผิดชอบไป อย่างเช่น เรามีประกันรถ เพื่อว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุ บริษัทประกันชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแทนเรา เป็นต้น
ทุนประกันที่เหมาะสมควรจะครอบคลุมความเสี่ยง หรือ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น
สำหรับทุนประกันชีวิตที่เหมาะสม = 5 -10 เท่ารายได้หลังภาษีต่อปี เพื่อว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา อย่างน้อยครอบครัวเราจะมีเงินใช้เหมือนเรามีชีวิตอยู่อีก 5 – 10 ปีเพื่อเป็นช่วงเวลาสำหรับการปรับตัวของครอบครัวเรา
ส่วนทุนประกันทรัพย์สิน ก็ควรเพียงพอสำหรับการซ่อมบำรุง หรือ ซื้อทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่เสียหาย อย่างเช่น ประกันรถยนต์ ทุนประกันก็ควรเพียงพอสำหรับการซ่อมบำรุงกรณีรถเกิดอุบัติเหตุ หรือ สูญหาย
9. วางแผนเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ รวยก่อนแก่ ดีกว่าแก่ก่อนรวย
ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งมีเวลาสะสมผลตอบแทนมากขึ้น และไม่ต้องเร่งออมตอนอายุมาก ศึกษาเครื่องมือและสวัสดิการเพื่อเกษียณอย่างละเอียดทั้งประโยชน์ เงื่อนไข และการบริหาร อย่างเช่น เลือกสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF ให้มากที่สุดเท่าที่ตนเองทำได้ เพื่อเพิ่มเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่ และเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง หรือเลือกซื้อประกันบำนาญเพื่อสร้างรายได้ประจำหลังเกษียณและยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท/ปีภาษี
10. ทบทวนแผนการเงินเป็นประจำ
อย่างน้อยปีละครั้ง ดูว่ารายได้–รายจ่ายเปลี่ยนแปลงไหม ภาวะภายนอกอย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจ ภาวการณ์ลงทุน เช่น ดอกเบี้ย ตลาดหุ้น ฯลฯ เปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ภาวะภายใน คือ ภาวะที่เกี่ยวกับตัวเราเอง อย่างเช่น สุขภาพ ครอบครัว ฯลฯ เปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วปรับแผนให้เหมาะสม
่อานบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : 10 กฎทองสู่ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน ตอน 1
ความจริงความคิด : 10 กฎทองสู่ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน ตอน 2
ความจริงความคิด : 10 กฎทองสู่ความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือน ตอน 3