EXIM BANK แนะ SMEs ไทยเร่งปรับตัวรับมือความเสี่ยง ก้าวทันเทรนด์เทคโนโลยีและ ESG สู่ความยั่งยืน

HoonSmart.com>>เศรษฐกิจโลกและไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากภาวะ 3 สูง ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยที่สูงและยาวนาน สะท้อนจากดอกเบี้ยนโยบายของหลายประเทศที่อยู่ในจุดสูงสุดในรอบหลายปี โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ยุโรปสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดอกเบี้ยไทยก็สูงสุดในรอบ 10 ปี อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนสูงคาดเดายาก และปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ขัดแย้งสูงและกำลังแบ่งโลกเป็นสองขั้ว จนเกิดสงครามตัวแทน (Proxy War) ขึ้นในหลายภูมิภาค ด้านหนึ่งนำโดย สหรัฐฯ และยุโรป อีกด้านหนึ่งนำโดยจีนและรัสเซีย

ความท้าทายที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายทิศทางกำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่ภาคธุรกิจทั้งไทยและเทศเป็นอย่างมาก เริ่มจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงและยาวนานที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับผลกระทบ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ และไทย ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปี ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากมูลค่าหนี้โลกในไตรมาส 3 ของปีนี้ที่ขยับเพิ่มขึ้นมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 3 เท่า ของ GDP โลก) และธุรกิจล้มละลายมากขึ้น โดยในปี 2566 ดัชนีการล้มละลายของธุรกิจทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 21% และคาดว่าในปี 2567 จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 4%

นอกจากความเสี่ยงอัตราแล้ว สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนสูงและคาดเดานับเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องจับตาใกล้ชิดเช่นกัน เนื่องจาก 2 ใน 3 ของผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันไม่มีการทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในเวลาเดียวกัน ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ขัดแย้งสูงซึ่งกำลังแบ่งโลกออกเป็นสองขั้ว ย่อมสร้างแรงกดดันต่อภูมิทัศน์การค้าโลกและการเคลื่อนย้ายห่วงโซ่การผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและเต็มไปด้วยความท้าทายดังกล่าว EXIM BANK เร่งเสริมสร้างความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน ควบคู่กับการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะแก่ลูกค้า SMEs สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่ไม่ทิ้งคนตัวเล็กและกลุ่มเปราะบางทางสังคม

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังมุ่งมั่นสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา Prime Rate 6.75% ต่อปีจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและภาคธุรกิจเร่งปรับตัวสู่ทิศทางโลกการค้ายุคใหม่ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้ กลไกสำคัญอย่างภาคส่งออกจะกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้า

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวอีกว่า ไม่เพียงแต่ภาวะ 3 สูงเท่านั้นที่ภาคธุรกิจต้องรับมือ แต่ยังมีอีก 2 เทรนด์ความท้าทายใหญ่ที่กำลังถาโถมเข้าใส่ภาคธุรกิจเช่นกัน ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลัง Disrupt กระบวนการผลิตของภาคธุรกิจและกระแสความยั่งยืนหรือ Green ที่บีบบังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในเวลานี้คือ การเข้าสู่ยุค Cashless World ที่สะท้อนได้จากปริมาณธุรกรรมการชำระเงินของโลกด้วยเงินสด (Cash) ที่มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 9% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกรรมการชำระเงินของโลกที่ไม่ใช่เงินสด (Non-cash) กลับเพิ่มขึ้น 19% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่บีบให้ภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและช่องทางการขายของตัวเอง มีการนำหุ่นยนต์และระบบ Automation มาใช้ในการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนมากขึ้น พร้อมหาช่องทางการขายใหม่ๆบนแพลตฟอร์ม E-commerce ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งสะท้อนได้จากมูลค่าความเสียหายและค่าใช้จ่ายในการป้องกัน Cyber Attack ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 13% และ 20% ตามลำดับ จนล่าสุดเวที World Economic Forum ได้ระบุให้ภัยการเงินในโลกออนไลน์เป็นความเสี่ยงที่รุนแรงติด 1 ใน 5 ความเสี่ยงสำคัญระดับโลก

อีกหนึ่งกระแสสำคัญที่ภาคธุรกิจไม่สามารถตกขบวนได้ในเวลานี้คือ กระแสสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ซึ่งกำลังกลายเป็นแม่น้ำสายหลักในโลกธุรกิจ เนื่องจากการนำ ESG มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ได้ 3 ด้าน ดังนี้

1. เข้าถึง Supply Chain ผู้ผลิตรายใหญ่ เนื่องจากบริษัทรายใหญ่ในปัจจุบันคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกระตุ้นให้ธุรกิจที่เป็น Supplier ให้กับบริษัทดังกล่าวต้องเร่งปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับตลาด Green ให้ทัน เพราะหากไม่ปรับตัวหรือปรับตัวไม่ทัน ย่อมจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งที่ปรับตัวได้ก่อน และอาจถูกตัดออกจาก Supply Chain การผลิตไปอีกด้วย

2. เข้าถึงตลาด ประเด็นสิ่งแวดล้อมกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่หลายประเทศนำมาบังคับใช้มากขึ้น อาทิ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) และกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) รวมถึงมาตรการจัดเก็บภาษีพลาสติก (Plastic Tax) โดยผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดจะมีต้นทุนในการเข้าถึงตลาดสูงขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นถูกปฏิเสธการนำเข้าก็เป็นได้

3. เข้าถึงแหล่งเงินทุน ปัจจุบันตลาดเงินและตลาดทุนต่างนำประเด็นเรื่องความยั่งยืนมาใช้พิจารณาการให้สินเชื่อหรือเลือกลงทุนกันมากขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการที่ปรับธุรกิจเป็น Green แล้ว หากสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกินกว่าที่กำหนด ก็มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เอง

ผลการศึกษาของ Moore Global และ McKinsey เมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่า ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG มากจะมี Performance ดีกว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG น้อย โดยมีโอกาสที่ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG จะมีรายได้เติบโตสูงกว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG น้อยกว่า 2.2 เท่า และมีกำไรโตสูงกว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG น้อยมากกว่า 2.5 เท่า ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG ยังมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยน้อยธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ESG น้อยกว่า 10% และสามารถดึงดูดแรงงาน (Headcount Growth) ได้สูงกว่า 2 เท่าอีกด้วย

ปัจจุบัน EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย มีเจตนารมณ์แน่วแน่และเป้าหมายชัดเจนที่จะเดินหน้าสู่การเป็น Green Development Bank ซึ่งเป็นเสาหลักสำคัญในการผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศถึง 20 ปี ขณะเดียวกัน ธนาคารยังมีแผนจะขยายพอร์ตสินเชื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนจากสัดส่วนราว 30% ของยอดสินเชื่อรวมในปัจจุบันให้เพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2571

“EXIM BANK มีวิสัยทัศน์ที่จะเดินหน้าสู่การเป็น Green Development Bank เต็มรูปแบบ เราพร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจภายใต้ Supply Chain การส่งออกพร้อมปรับตัวสู่ความยั่งยืนและแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว นอกจากการใช้กลไกธุรกิจสีเขียวแล้วในปี 2567 เรายังมีแผนจะระดมทุนผ่าน Blue Bond เพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ เช่น พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” ดร.รักษ์ กล่าว