ผู้ถือหุ้น NUSA รวมตัวร้อง DSI …. สกัดแผนขายสินทรัพย์กว่า 1.1 หมื่นล.

HoonSmart.com >> กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย NUSA กว่า 30 ราย รวมตัวยื่นฟ้องดีเอสไอ ตรวจสอบฝ่ายบริหารละเมิดสิทธิ์ผู้ถือหุ้น กังวลทำธุรกรรมส่อไม่โปร่งใส เกิดผลขาดทุนสะสมกว่า 3,000 ล้านบาท  เสี่ยงกระทบรายย่อย เดินหน้าร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (26 ธ.ค.2566) กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท ณุศาศิริ   (NUSA) จำนวนกว่า 30 ราย ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้การตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์ผู้ถือหุ้น โดยฝ่ายบริหารดำเนินการส่อไม่โปร่งใส มีความเสี่ยงสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย โดยมีตัวแทนอธิบดีดีเอสไอรับหนังสือ พร้อมรายชื่อกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายประมาณ 30 ราย

นายเสรี หัตถะรัชต์ ผู้ถือหุ้นรายย่อย NUSA กล่าวว่า การยื่นหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอในครั้งนี้ ตนและผู้ถือหุ้นรายย่อยดำเนินการเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง จากการดำเนินงานของฝ่ายบริหารที่มีแนวโน้มส่อไปในทางมิชอบ ทำให้ราคาหุ้นของ NUSA ตกลงมาค่อนข้างมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งตนจะดำเนินการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบ MORE หรือ STARK

สำหรับหนังสือที่ยื่นต่ออธิบดี ดีเอสไอ ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการ NUSA มีมติอนุมัติแผนขายทรัพย์สินขายหุ้นของบริษัทฯ จำนวน 6 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของทรัพย์สินรวม 1.6 หมื่นล้านบาท โดยไม่แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบ และไม่จัดการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามพรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

ทรัพย์สินทั้ง 6 รายการนั้น โดยเฉพาะหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH และหุ้นบริษัท เด็มโก้จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO เมื่อครั้งบริษัทฯ เข้าไปลงทุน ฝ่ายบริหารได้ให้ข้อมูล และโน้มน้าวที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่าจะเป็นการนำพาบริษัทฯ เข้าสู่ธุรกิจพลังงานสร้างผลตอบแทนดี และสร้างความมั่นคงให้แก่บริษัทฯ จนได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นและยังทำให้นักลงทุนมากมายเข้ามาลงทุนใน NUSA เพราะเชื่อตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอว่าจะเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน ดังนั้น การขายหุ้น WEH และ DEMCO เท่ากับยุติธุรกิจพลังงานโดยสิ้นเชิงและเท่ากับหลอกลวงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน

“ข้าพเจ้ายังมีความกังวลว่า หากปล่อยให้คณะกรรมการและฝ่ายบริหารจำหน่ายทรัพย์สินออกไปโดยพลการสุ่มเสี่ยงที่จะดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส เช่นเดียวกับหลายธุรกรรมที่ฝ่ายบริหารเคยกระทำมาก่อนจนถูกทักท้วง และเรียกชี้แจงจากผู้ตรวจสอบบัญชีและ ก.ล.ต. และตลท.” นายเสรีระบุ

กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ ให้ NUSA ชี้แจงเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ ได้แก่

กรณีซื้อธุรกิจโรงแรมในประเทศเยอรมนี กลุ่มบริษัท คือ World Medical Alliance Hong Kong Co., Ltd. (“WMA”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้เปลี่ยนจากการเข้าทำสัญญาซื้อทรัพย์สิน (กิจการโรงแรม) เป็นการซื้อหุ้นในบริษัทโฮลดิ้ง
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 7/2566 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ได้มีมติอนุมัติขายยกแปลงโครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งของบริษัทฯ (โครงการบ้านกฤษฎา-พระราม 5) ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันในราคาที่ไม่สมเหตุผล และบริษัทไม่ได้จัดให้มีการพิจารณาจากคณะกรรมการตรวจสอบก่อนทำรายการขาย ซึ่งต่อมากรรมการตรวจสอบมีมติไม่เห็นชอบต่อการทำรายการดังกล่าว

บริษัทฯ ผิดนัดชำระหนี้ผู้ลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทฯ รับประกันผลตอบแทนและให้สิทธิขายคืน สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาทให้แก่ผู้ลงทุนนับร้อยรายตั้งแต่ปี 2561 เรื่อยมา เนื่องจากบริษัทฯไม่ชำระผลตอบแทนให้ลูกค้าตามที่ตกลง เมื่อตรวจสอบจากหมายเหตุประกอบงบการเงินล่าสุดพบว่าบริษัทฯ ตั้งงบไว้ชำระผลตอบแทนเพียง 108 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำมาก หากเทียบกับผลตอบแทนทั้งหมดที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายรวม 2,223 ล้านบาท

“พวกข้าพเจ้าเชื่อว่า การบริหารงานในลักษณะละเมิดสิทธิ์ผู้ถือหุ้น และดำเนินการอย่างไม่โปร่งใสในหลายธุรกรรมมีส่วนทำให้ NUSA ขาดทุนต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน จนมีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 3,000 ล้านบาท สวนทางกับผลประกอบการผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ด้วยเหตุนี้พวกข้าพเจ้า จึงรวมตัวกันมาขอให้ท่าน ได้เข้าไปตรวจสอบ เพื่อยับยั้งการกระทำดังกล่าวโดยเร็วก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อบริษัท และต่อประชาชนผู้ถือหุ้นรายย่อยใน NUSA ที่มีจำนวนรวมกันเกือบ 1 หมื่นราย ซึ่งยากแก่การเยียวยาในภายหลัง” ท้ายหนังสือร้องเรียนระบุ

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายวิษณุ เทพเจริญ ประธานกรรมการ NUSA  และ นางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด เปิดให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ประเด็น ปมแตกหัก “วิษณุ – ประเดช” กรณีการขายทรัพย์สินมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท ที่ทำการบริษัท ณุศาศิริ   อาคารชาญอิสสระ 2 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่