“เคทีซี” เปิดกลยุทธ์ช่วงท้ายปีเดินธุรกิจเชิงรุกอย่างระมัดระวัง พร้อมเตรียมเข้าสู่ธุรกิจนาโน-พิโกไฟแนนซ์ คาดสิ้นปี 2561 กำไร 5 พันล้านบาท วางเป้าหมายปี 62 กำไรโต 10%
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีการปรับแผนการตลาดเชิงรุกต่อเนื่องในหลายมิติเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ และไม่ประมาทที่จะเตรียมตัวให้พร้อมกับการเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และมุ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยกำลังเตรียมการเข้าสู่ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อรายย่อยผู้ประกอบอาชีพ และพิโกไฟแนนซ์หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ให้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ต่อธนาคารกรุงไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยตามลำดับต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2561 บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายการเติบโตด้านปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมไม่ต่ำกว่า 15% พอร์ตลูกหนี้เติบโตประมาณ 10% และรักษาระดับ NPL รวมในอัตราเดิมประมาณ 1.2% โดยคาดว่าจะทำกำไรในปี 2561 ได้ในช่วงประมาณ 5,000 ล้านบาท และตั้งประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 เติบโต 10% จากปี 2561
สำหรับช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
“การดำเนินงานของเคทีซีในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ถือว่าเติบโตเกินคาดหมาย โดยมีกำไรสุทธิ 3,911 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 65% ในขณะที่กำไรสุทธิในไตรมาส 3 เท่ากับ 1,396 ล้านบาท โดยบริษัทสามารถสร้างรายได้เติบโตต่อเนื่องจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร และยอดลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ขยายตัว ในขณะที่สภาวะการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งการเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาต่อยอดบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงฉับไว และความท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทฯ จึงต้องปรับแผนธุรกิจและจัดกระบวนการใหม่ให้รับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพื่อให้ได้ประสิทธิผลที่ดีกว่า ดังจะเห็นได้จากฐานสมาชิกรวมถึงยอดลูกหนี้และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาส 3 มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนสมาชิกสินเชื่อพร้อมใช้ “เคทีซี พราว” มีมูลค่าการเบิกถอนเงินสดที่สูงขึ้น” นายระเฑียร กล่าว
ณ วันที่ 30 กันยายน 2561 เคทีซีมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 73,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทฯ อยู่ในรูปของลูกหนี้การค้าสุทธิคิดเป็น 92% ของสินทรัพย์รวม โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 72,870 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.2 ล้านบัญชี (เติบโต 5.2%) แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,301,431 บัตร (ขยายตัว 3.6%) พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 46,616 ล้านบาท (ขยายตัว 5%) สัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ 12.6% อัตราเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีรวมเท่ากับ 8.7% ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมูลค่า 138,289 ล้านบาท (อุตสาหกรรมเติบโต 10.5%) ส่วนแบ่งการตลาดของการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 11.1% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 1.2% จาก 1.5% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.1% ลดลงจาก 1.2% (อุตสาหกรรม 1.9%) สินเชื่อบุคคล 929,634 บัญชี (ขยายตัว 9.5%) ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 25,917 ล้านบาท (เติบโต 8%) สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 7.0% และ NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ระดับเดิม 0.8% (อุตสาหกรรม 2.6%) โดยสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL ยังคงมูลค่าสูงที่ 615% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 565%
สำหรับการทำธุรกิจร้านค้ารับบัตรในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา เคทีซีมีปริมาณซื้อขายผ่านร้านค้า 62,359 ล้านบาท เติบโต 14.4% มีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นเป็น 35,311 แห่ง เพิ่มขึ้น 11.4% ซึ่งเป็นผลจากโครงการขยายร้านค้าและติดตั้งเครื่องรับบัตร ประกอบกับการขยายช่องทางรับชำระบัตรเครดิตผ่าน KTC QR Pay ที่เปิดกว้างให้กับพันธมิตรร้านค้าใหม่ๆ มากขึ้น และยังช่วยให้สมาชิกเคทีซีได้สัมผัสประสบการณ์ความสะดวกรวดเร็วของระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบการชำระแบบเดิมอย่างเดียว
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เคทีซีมีอัตราเติบโตของรายได้รวมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายรวมให้มีอัตราลดลง โดยสามารถทำรายได้รวมในไตรมาส 3/2561 เพิ่มขึ้น 8% เท่ากับ 5,376 ล้านบาท จากรายได้ดอกเบี้ย (รวมรายได้ค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) 3,226 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียม 1,182 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ เท่ากับ 968 ล้านบาท มีสัดส่วนคิดเป็น 60% 22% และ 18% ของรายได้รวมตามลำดับ โดยรายละเอียดของรายได้อื่นๆ นั้น มีสัดส่วน 87% จากหนี้สูญได้รับคืน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 3,632 ล้านบาท ลดลง 7% โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายการบริหารงานที่เพิ่มขึ้นเพียง 1% ด้วยคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ของบริษัทที่ดี จึงไม่เพิ่มสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ทำให้มูลค่าหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงที่ 16% รวมทั้งค่าใช้จ่ายการเงินที่เป็นต้นทุนเงินลดลงที่ 7% เหล่านี้ล้วนเป็นผลให้ค่าใช้จ่ายรวมของบริษัทลดลงค่อนข้างมาก
นอกจากนี้บริษัทฯ สามารถรักษาสัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ (Operating Cost to Income Ratio) เท่ากับ 26.4% ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 27.2% เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน รวมถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของมูลค่ารายได้สุทธิมากกว่าจำนวนค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น 25,390 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารกรุงไทย 18,030 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ 7,360 ล้านบาท โดยมีต้นทุนการเงิน ณ ไตรมาส 3/2561 และ 9 เดือน เท่ากับ 2.97% และ 2.98% ตามลำดับ ลดลงจากงวดเดียวกันของปี 2560 อยู่ที่ 3.28% และ 3.22% ตามลำดับ โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 3.85 เท่า ต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า