HoonSmart.com>SCB EIC ปรับลดเป้าเศรษฐกิจปี 68 โตเพียง 2.4% นโยบาย Trump 2.0 กดดันส่งออกไทยมีความเสี่ยงสูงถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ กระทบมากหรือน้อย หวังผลเจรจาต่อรอง สินค้าจีนทะลักเพิ่ม จากเข้ามาตีตลาดแล้ว 25% กดเงินเฟ้อต่ำ คาดธปท.ลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งเหลือ2% เตรียมกระสุนไว้รับมือระยะยาว คุณภาพสินเชื่อรายย่อยแย่ลง ธุรกิจยังเสี่ยงอยู่มาก เจ็บมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการปรับตัว ธุรกิจใหญ่กำไรเฉลี่ยโตกว่าขนาดเล็กและความผันผวนของกำไรต่ำกว่า
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโต 2.7% ดีกว่าที่เคยคาดไว้เมื่อเดือนก.ย.ที่ 2.5% ส่วนปี 2568 ปรับลดเหลือ 2.4% โตต่ำกว่าศักยภาพที่ 2.7% เนื่องจากการบริโภคในประเทศโตลดลงจาก 5% เหลือ 2.1% ส่งออกขยายตัวแค่ 2% จาก 3.9%ในปีนี้ หลังปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกเหลือ 2.5% (เดิม 2.8%) จากนโยบาย Trump 2.0 ซึ่งจะเร่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และกีดกันการค้าให้รุนแรงขึ้น กระทบเศรษฐกิจโลกผ่านการค้า การลงทุน และแรงงานเป็นหลัก
ส่วนไตรมาส 4 ปีนี้อาจขยายตัวได้ถึง 4% ตามแรงส่งการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่โตต่อเนื่อง รวมถึงการท่องเที่ยว แต่ปีหน้า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มได้รับผลกระทบมาตรการกีดกันการค้าของ Trump 2.0 ตั้งแต่ครึ่งปีหลัง กดดันการส่งออก และการลงทุน เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งกว่า 70% ของสินค้าส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ จะตั้งเป้าลดการขาดดุลการค้าและต้องการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานในประเทศแทน อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ปัญหาจีนมีผลผลิตส่วนเกิน จะกดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งตลาดในและนอกประเทศ ส่งผลให้การส่งออกไทยเริ่มชะลอตัว ซ้ำเติมภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัว ท่ามกลางแรงกระตุ้นการคลังที่จะออกมาเพิ่มเติมในปีหน้า
ทั้งนี้ หลายประเทศหลักได้เตรียมชุดมาตรการลดผลกระทบเชิงลบจาก Trump 2.0 ไว้บ้างแล้ว แต่ปัญหาการเมืองในบางประเทศอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้แนวทางการรับมือของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเยอรมนี ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ ส่วนไทยจะต้องติดตามคณะเจรจาและการต่อรอง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกปรับขึ้นภาษีมากขึ้น ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าผลกระทบสุทธิของชุดนโยบาย Trump 2.0 ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเป็นลบแต่จะไม่แรงมาก เพราะหลายนโยบายจะช่วยเร่งการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การลดภาษีเงินได้ การลดกฎเกณฑ์ภาครัฐให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ (Deregulation)
ทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินโลกจะเริ่มแตกต่างกันและมีความไม่แน่นอนสูง
คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เพื่อรองรับความเสี่ยงเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจาก Trump 2.0 โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าและการกระตุ้นการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อโลกอาจไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกแย่ลง ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มต่ำลงตามอุปสงค์โลกและการเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐฯ จากนโยบายสนับสนุนของ Trump ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยมากกว่าคาดการณ์เดิม เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่จะชะลอลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจจัย Trump 2.0 กดดันเพิ่มเติม แต่สำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์เดิม ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันเงินเยนอ่อนค่ามากจาก Trump 2.0
สำหรับคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มจะแย่ลง ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่จะยังเข้มงวดต่อเนื่อง จากข้อมูล NCB สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงน่าจะคลี่คลายได้ช้า ส่งผลกดดันการบริโภค สำหรับมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุด เน้นช่วยลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบางได้มากขึ้นและยังมีโอกาสคืนหนี้ได้ สำหรับผลสำเร็จของมาตรการฯ ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้เป็นหลัก
SCB EIC ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง 0.25% ในเดือน ก.พ. 2568 ไปอยู่ที่ 2% และคงไปตลอดช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีปัจจัยกดดันชัดเจนที่ทำให้ กนง. ต้องเร่งปรับลดดอกเบี้ย แต่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากความเปราะบางภายในและความท้าทายภายนอก นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ และลดผลกระทบภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง
แนวโน้มเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีกไม่มาก อยู่ในกรอบราว 34.00-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ยังต้องจับตาความผันผวนของเงินสกุลอื่นที่อาจกระทบเงินบาทได้ สำหรับปี 2568 คาดว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะยังไหลออกต่อเนื่องกดดันเงินบาทอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งปีแรก แต่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง ตามทิศทางการลดดอกเบี้ยของเฟด ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับ มองกรอบปลายปีที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ธุรกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก นโยบาย Trump 2.0 การแข่งขันรุนแรงจากต่างประเทศ แรงกดดันจาก Mega trends รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตของไทยเอง มีการนำเข้าสินค้าจากจีน 25% มาตีตลาด และกดดันให้เงินเฟ้อไทยต่ำ แต่ขนาดผลกระทบจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละธุรกิจ เช่น ธุรกิจยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความเปราะบางของครัวเรือน ซ้ำเติมด้วยแรงกดดันเปลี่ยนผ่านสู่รถ EV ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับตัว ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย แม้ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถปรับตัวเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพทดแทนได้
ความท้าทายภายนอกและความอ่อนแอภายในของประเทศไทยที่เห็นนี้ กำลังสะท้อนว่าเศรษฐกิจเติบโตต่ำลงในระยะสั้นและมีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ขณะที่แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนสามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงในโครงสร้างทางสังคมได้อย่างเสรี ข้อจำกัดเหล่านี้นำพาให้เศรษฐกิจไทยอยู่บนโลก ‘สองใบ’ ที่แตกต่างกันใน 3 มิติ คือ
1.มิติ : อ่อน-แข็ง โลกสองใบของครัวเรือนฐานะการเงินอ่อนแอกับครัวเรือนฐานะการเงินเข้มแข็ง สะท้อนครัวเรือนไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่งคั่งรุนแรงมาก โดยครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอมีรายได้ไม่พอรายจ่าย และมีรายได้เข้ามาไม่สม่ำเสมอ เมื่อครัวเรือนที่มีฐานะการเงินอ่อนแอเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้ขาดรายได้ โลกของครัวเรือนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่าและฟื้นตัวช้ากว่าครัวเรือนที่มีฐานะการเงินเข้มแข็ง
2.มิติ : เก่า-ใหม่ โลกสองใบของภาคการผลิตโลกเก่ากับโลกใหม่ ภาคการผลิตโลกเก่าไม่ได้เติบโตไปกับกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี หรือจะเผชิญความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ภาคการผลิตโลกใหม่มีโอกาสเติบโตตามการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงน้อยกว่า
3.มิติ : ใหญ่-เล็ก โลกสองใบของธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็ก กำไรของธุรกิจขนาดเล็กมีความผันผวนมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ผ่านมารายได้ธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วงโควิด-19 ไม่ได้ลดลงเลย และสามารถเติบโตได้เกือบ 10% หลังจากวิกฤตสิ้นสุดลง ในทางตรงข้ามรายได้ของธุรกิจขนาดเล็กหดตัวราว 2-3% ในช่วงโควิด-19 และยังไม่ฟื้นตัว
แนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจึงควรมุ่งลดระยะห่างระหว่างโลกสองใบ ผ่านเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
1.คนไทยควรมีภูมิคุ้มกันต่อสถานการณ์เลวร้าย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงให้คนในโลกที่รายได้น้อยกว่าออกไปคว้าโอกาสในการเติบโต ผ่านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนรายได้น้อย โดยผู้ดำเนินนโยบายมีบทบาทเป็นกลไกเสริมผ่านการช่วยเหลือทางสังคมและประกันทางสังคม ควบคู่ไปกับการออกแบบกติกาในภาคการเงินเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาตลาดประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก
2.คนไทยควรเติบโตจากการพัฒนาและปรับตัวทันกับภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนไป โดยในการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวและพัฒนาให้ทันภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายจะเป็นกลไกเสริมผ่านการหาโอกาสทางธุรกิจผ่านการเจรจาทางการค้าและการลงทุนกลับมาให้ธุรกิจภายในประเทศ
3.คนไทยควรมีโอกาสสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเติบโตไปพร้อมกัน ผู้ดำเนินนโยบายจะมีบทบาทในฐานะผู้ออกแบบกติกาของการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และการแข่งขัน เพื่อสร้างโอกาสให้คนจากโลกที่รายได้ต่ำกว่าเข้าถึงทรัพยากร สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างทั่วถึง