รู้จัก !! พี่บิ๊กตลาดหุ้น “ทาวเวอร์ รีเสิร์ช” … ก.ล.ต.จี้ตลาดฟื้นความเชื่อมั่น

HoonSmart.com >> “ทาวเวอร์ รีเสิร์ช พี่บิ๊กในตลาดหุ้นคือใคร” ฟาก ก.ล.ต.ส่งหนังสือด่วน! กำชับ ตลท.ใช้อำนาจในมือปรับเกณฑ์-เพิ่มระบบตรวจสอบชอร์ตเซล-โปรแกรมเทรดดิ้ง ฟื้นเชื่อมั่น

ทาวเวอร์ รีเสิร์ช พี่บิ๊กในตลาดหุ้นคือใคร

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั่ววงการหุ้น เกี่ยวกับลูกค้ารายใหญ่ในรูปกองทุนต่างชาติ หรือที่ชอบเรียกกันว่าลูกค้าสถาบัน ที่มีการส่งคำสั่งโดยใช้โปรแกรมเทรด สามารถส่งคำสั่งได้ทั้งจำนวนมาก ในเวลาอันรวดเร็วเศษเสี้ยววินาที และยังไม่นับว่า จะมีการขายหุ้นที่เรียกกันว่า Naked Short หรือการขายหุ้นทั้งที่ไม่มีหุ้นอยู่ในมือ ไม่มีทั้งการยืมหรือซื้อก่อนขาย หรือไม่

มีชื่อหนึ่งที่ถูกพูดถึงว่า เป็นเจ้าใหญ่ในวงการหุ้นทั่วโลกใช้โปรแกรมเทรด หรือที่เรียกว่า HFT ( High Frequancy Trade ) โดยอาจเป็นผู้ที่มีปริมาณการซื้อขายถึง 20% .ในตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน ก็คือ ทาวเวอร์ รีเสิร์ช แคปปิตอล  “ Tower Research Capital” มาทำความรู้จักกับเจ้าบิ๊กเบิ้มนี้กัน

ทาวเวอร์ รีเสิร์ช แคปปิตอล ถูกก่อตั้งขึ้นโดย นาย มาร์ค กอร์ดอน ( Mark Gordon ) เมื่อปี 1998 โดยมีฐานะเป็นเฮดจ์ฟันด์ ( Hedge Fund) ในนิวยอร์ค ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้วยการพัฒนาโปรแกรมการซื้อขายหุ้น ให้สามารถส่งคำสั่งอย่างรวดเร็วด้วยกลยุทธ์สุดล้ำ จนประสบความสำเร็จและสามารถแสวงหากำไรได้อย่างที่กองทุนในรูปเฮดจ์ฟันด์อื่นๆ ไม่สามารถทำได้

ความจริงแล้ว ความสำเร็จของ ทาวเวอร์ รีเสิร์ช แคปปิตอล มาจากความเหนือชั้นขั้นเทพ ที่เหนือกว่าคนอื่น ๆ จริงหรือ ??? นี่คือคำถาม

และข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า

ปี 2011 บริษัทลูกของทาวเวอร์ รีเสิร์ช ชื่อ ลาตัวร์ (Latour)  ส่งคำสั่งเป็นล้านคำสั่งเข้าตลาดหุ้นอเมริกาและได้กำไรไป แต่ถูกลงโทษในการที่ไม่มีการกำกับดูแลที่ดีและต้องส่งกำไรคืนให้ตลาดหุ้นอเมริกา

2014 ถูกเปรียบเทียบปรับ 16 ล้านยูเอสดอลลาร์ จากการไม่ปฏิบัติตามการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิที่ทางการกำหนด

2019 ถูกปรับ 67.4 ล้านยูเอสดอลลาร์จากการส่งคำสั่งซื้อขายที่มีลักษณะควบคุมหรือบิดเบือนสภาพตลาดให้ผิดไปจากปรกติ โดยไม่ได้ประสงค์จะทำการซื้อขายจริง

ถ้าปัจจุบันทาวเวอร์ รีเสิร์ช เป็นผู้เล่นบิ๊กเบิ้มในตลาดหุ้นไทย ด้วยปริมาณการซื้อขายที่มากกว่านักลงทุนทุกรายในประเทศ จึงเกิดคำถาม ?? ว่า ตลาดหุ้นในปัจจุบันที่นักลงทุนรายย่อยพากันตบเท้ากันออกมาแสวงหาความเป็นธรรม เพราะเสียหายจากการลงทุน ทาวเวอร์ รีเสิร์ช ใช่หนึ่งในตัวการหรือไม่ เพราะจากประวัติของเฮจด์ฟันด์ใหญ่รายนี้ บอกได้คำเดียวว่า “ไม่ธรรมดา” ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เห็นทีต้องบอกให้ได้ว่า ทุกวันนี้ตลาดหลักทรัพย์จับตาดู เข้มงวด กวดขัน การลงทุนของพี่บิ๊กรายนี้อย่างไร

นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤตศรัทธาการทำธุรกรรมชอร์ตเซล และการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง หรือระบบส่งคำสั่งซื้อขายความถี่สูง (HFT) โดยมองว่า เป็นตัวการที่สร้างความไม่เป็นธรรมนั้น  สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงเช้าของวันนี้ เพื่อให้ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา ดังนี้

1. กรณีการทำชอร์ตเซล สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ตอกย้ำว่า ก.ล.ต.ได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการดลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกำหนดราคาการทำชอร์ตเซล (Price Rule) ซึ่งปัจจุบันกำหนดใช้ราคาเท่ากับราคาตลาดฯครั้งสุดท้ายหรือไม่ต่ำกว่าราคาตลาดฯ (Zerotick Rule) แต่คณะกรรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดราคาทำชอร์ตเซลด้วยราคาสูงกว่าราคาครั้งสุดท้าย (Uptick Rule) เพื่อไม่ให้เกิดการดัมพ์ราคา

“บอร์ดตลาดฯมีอำนาจในการกำหนด Price Rule จะเป็น Zerotick หรือ Uptick ก็ได้ เพราะก.ล.ต.ให้อำนาจบอร์ดตลาดไปแล้ว ปัจจุบันตลาดใช้ Zerotick อยู่ ก.ล.ต.พยายามจะสื่อบอกตลาดฯว่า คุณมีอำนาจอยู่แล้ว ว่าคุณจะใช้ Uptick ก็ได้ คุณต้องไปดูเอาเอง ว่าคุณจะใช้ Uptick ไหม…เราไม่ได้บอกว่าให้ใช้ Uptick แต่ให้ตลาดฯต้องไปดูความเหมาะสมเอง แล้วก็เสนอบอร์ดตลาดฯให้กำหนด Price Rule”

2. ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มกลไกการตรวจสอบการใช้โปรแกรมเทรดดิ้งว่าลูกค้าตัวจริงเป็นใคร ซึ่งปกติโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นชื่อโบรกเกอร์ หรือคัสโตเดียน เพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีการทำ Naked Short Sell หรือไม่
“ชอร์ตเซลไม่ใช่อาญชากร ถ้าคุณทำตามเกณฑ์ ก็ไม่สามารถมาทำลายตลาดได้ แต่ถ้าคุณเป็นพวกปลอมตัวเข้ามา มาทำ Naked Short แบบนี้ มาส่งคำสั่งขาย อันนี้เป็นสิ่งที่เราก็กังวลในจุดนี้ เราก็เลยมองว่าธุรกรรมที่น่ากังวลคือธุรกรรมผ่านโปรแกรมเทรดดิ้ง เราจึงเพิ่มมาตรการ โดยบอกให้ตลาดไปเพิ่มกลไกที่จะตรวจสอบว่าลูกค้าที่ใช้โปรแกรมเทรดดิ้งตัวจริงเป็นใคร”

3. ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทบทวนการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งให้เกิดความเป็นธรรมกับนักลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรีบ ก.ล.ต.ต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าไปตรวจสอบว่าการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดดิ้งเป็นธุรกรรมของนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายย่อยต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนสถาบันมีความเสี่ยงต่ำ ค่าธรรมเนียมการซื้อขายก็จะต่ำกว่านักลงทุนรายย่อย แต่หากเป็นนักลงทุนรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงต้นทุนจะสูงกว่านักลงทุนสถาบัน อย่างไรก็ดี ให้ตลาดลักทรัพย์ฯตรวจสอบว่ามีนักลงทุนรายย่อยต่างชาติที่สวมรอยเป็นนักลงทุนสถาบันหรือไม่ โดยเข้ามาซื้อขายผ่านคัสโตเดียน ก็จะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

“เราเห็นประเด็นว่า โปรแกรมเทรดดิ้ง เป็นธุรกรรมที่ต้นทุนต่ำ และสามารถทำกำไรที่สเปรดแคบ ๆ แนวโน้มใช้กับวอลุ่มเยอะ ตรงนี้เรามองว่า มีความเสี่ยงสูง สำนักงานฯ ก็ได้กำชับกับตลาดฯเช้านี้ คือ ให้ตลาดไปเพิ่มกลไกตรวจสอบ” รองเลขาธิการ กล่าว