4 แบงก์เจ้าหนี้ยื่นฟื้นฟู’เฟ้ลปส์ดอดจ์ฯ’ ศาลรับคำร้องแล้ว ลุ้นไฟเขียวสะสางหนี้

HoonSmart.com>>ธนาคาร 4 แห่ง ‘กสิกรไทย-ไทยพาณิชย์-ไอซีบีซีฯ- ยูโอบี’ รวมพลัง ยื่นฟื้นฟูกิจการ’เฟ้ลปส์ดอดจ์ฯ’ ศาลรับคำร้องแล้ว รอไต่สวนว่าจะให้เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการหรือไม่ ระหว่างนี้ หนี้ได้รับความคุ้มครอง  ก่อนหน้าผลตรวจสอบพิเศษ พบรายการทางการเงินที่ผิดปกติ สร้างความเสียหายสูงถึง 12,000 ล้านบาท 

แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) หรือ PDIT เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารเจ้าหนี้รวม 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) หรือ ICBC และธนาคารยูโอบี (UOB) ได้ยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการบริษัทเฟ้ลปส์ ดอด์จฯ ล่าสุดศาลได้รับคำร้องขอแล้ว ส่งผลให้ภาระหนี้ต่างๆได้รับความคุ้มครอง หากจะดำเนินการจะต้องขออนุญาตจากศาลก่อน

ส่วนขั้นตอนต่อไป ศาลจะนัดไต่สวนตามข้อกฎหมาย เมื่อได้ข้อเท็จจริง จะตัดสินให้บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นานนัก หากไม่มีใครยื่นคัดค้านให้ฟื้นฟูกิจการ

สำหรับบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ เป็นผู้นำเทคโนโลยีทางด้านการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลอันดับ 1 โดยมีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด และมีปัญหาเรื่องการตกแต่งบัญชี สร้างความเสียหายในวงกว้างสูงเป็นประวัติการณ์ของตลาดทุนไทย ทั้งผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ โดยผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งสิ้นกว่า 9,100 ล้านบาท เจ้าหนี้ และผู้เกี่ยวข้อง ทำให้สำนักงานก.ล.ต.สั่งให้บริษัทสตาร์คฯ ตรวจสอบพิเศษ (special audit) ซึ่งผู้สอบบัญชีรายงานผลตรวจสอบเบื้องต้นพบเสียหายมากกว่า 20,600 ล้านบาท หนึ่งในนั้นมาจากบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ โดยผู้สอบบัญชีตรวจพบรายการทางการเงินที่ผิดปกติในรูปแบบต่าง ๆ   มากกว่า 200 รายการ โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมมากกว่า 8,000 ล้านบาทในปี 2565 และมากกว่า 4,000 ล้านบาทในปี 2564

ผู้สอบบัญชีตรวจพบธุรกรรมทางการเงินของบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ หรือการบันทึกรายการทางการเงินที่ไม่เกิดขึ้นจริง หรือ ธุรกรรมที่ไม่ตรงกับรายการที่เกิดขึ้นจริง ธุรกรรมที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น การทำรายการขายที่ไม่เกิดขึ้นจริงหรือที่ไม่ปรากฏเอกสารประกอบการขาย การบันทึกรายการรับชำระหนี้จากบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันที่ไม่ใช่ลูกหนี้ การทำรายการขายที่ไม่สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้โอนเงินหรือชำระเงินการทำรายการขายที่ไม่มีการยืนยันการรับสินค้าจากลูกค้า เป็นต้น

แม้ว่าบริษัทจะได้ขอรายการเดินบัญชีจากธนาคารที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ แต่ข้อมูลในรายการเดินบัญชีธนาคารที่ได้รับมานั้นบางส่วนก็ไม่แสดงข้อมูลผู้โอนเงิน หรือผู้ชำระเงิน และมีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากธนาคาร จึงเกิดอุปสรรคในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ ผู้สอบบัญชียังตรวจพบในรูปแบบอื่น ๆ เช่น (ก) การสั่งซื้อวัตถุดิบโดยที่ไม่ปรากฎเอกสารประกอบ หรือการโอนเงินให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกันเพื่อซื้อวัตถุดิบที่ไม่ได้มีการซื้อ-ขายเกิดขึ้นจริง หรือการบันทึกธุรกรรมเป็นการโอนเงินค่าวัตถุดิบ แต่ธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงนั้นเป็นการโอนเงินให้แก่บริษัทอื่นหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน หรือบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้ขายวัตถุดิบ (ข) การรับโอนเงินจากบริษัทที่ไม่เคยมีธุรกรรมระหว่างกัน หรือการรับโอนเงินจากบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันแต่มีการบันทึกบัญชีไม่สอดคล้องกับรายการที่เกิดขึ้น (ค) การทำธุรกรรมกู้ยืมที่ไม่มีการบันทึกรายการเงินให้กู้ยืม เป็นต้น

สำนักงานก.ล.ต. สั่งให้บริษัท สตาร์คฯ ดำเนินการเพิ่มเติม ภายหลังนำส่งรายงานผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ ทบทวนการเปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วนและชัดเจนยิ่งขึ้น และขอให้ผู้ถือหุ้น STARK เข้าร่วมประชุมในวันที่ 19 ต.ค.2566 พิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างลงทั้งหมด พร้อมทั้งเดินหน้าตรวจสอบเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลเกี่ยวกับผู้กระทำผิดและความผิดเพิ่มเติม

ด้านตลาดหลักทรัพย์สั่ง STARK เร่งส่งงบไตรมาสที่ 1/2566 ภายใน 15 พ.ย.นี้