บลจ.ยูโอบี : ก้าวสำคัญของการลงทุนด้าน ESG

โดย…บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เราเป็นผู้นำด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน และด้วยนโยบายสนับสนุนด้านความยั่งยืนของภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เราก้าวไปสู่ผู้นำในระดับภูมิภาค

ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเช่นประเทศอื่น ๆ โดยปี 2563 ประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 154 ของดัชนีความยั่งยืนโลก (The Global Sustainable Index)[1] ในขณะที่ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเห็นได้จากการตื่นตัวของภาครัฐ และภาคธุรกิจ ในการเดินหน้าผลักดันนโยบายอย่างเข้มข้น โดยมุ่งเน้นและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับประเทศที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และครอบคลุมในทุกมิติ

ในปี 2562 รัฐบาลได้ออกนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคง อาทิ เช่น การลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมหนัก และการแก้ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)[2] ซึ่งนโยบายนี้จะเป็นแนวทางที่สำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy)” เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ประเทศที่มีสถานะรายได้สูง ควบคู่ไปกับการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรบุคลากร ความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ฯลฯ

ในปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Thailand’s Sustainable Development Plan 2023 เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน และการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน

นอกจากการให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG ในระดับประเทศแล้ว เราได้เห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนและกองทุน ESG ในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อผสมผสานกับนโยบายของภาครัฐแล้ว จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น สำหรับ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยเราเป็นผู้นำในการนำเอาแนวคิด ESG มาใช้ในการวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจลงทุน เราได้พัฒนาพอร์ตการลงทุนด้วยการบูรณาการโดยใช้หลัก ESG Integration ในการพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ทั้งตราสารหุ้น และตราสารหนี้ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพอร์ตการลงทุนได้ หากพิจารณาถึงผลตอบแทนจากการลงทุนแบบ ESG พบว่า ดัชนี Morningstar Global Market Sustainability Leaders มีผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดทั่วไปถึงสองเท่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งสูงถึง 21.2 เปอร์เซ็นต์[3] นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัทที่อยู่ในดัชนีฯ ที่มีผลตอบแทนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ NVIDIA Corporation (NVDA) โดยมีผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน[4]
 
 
การริเริ่มเป็นผู้นำการลงทุนด้าน ESG

ในฐานะที่ บลจ. ยูโอบี (ประเทศไทย) เป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุนด้าน ESG มักจะถูกถามว่าเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการลงทุนนั้นเป็นไปตามเกณฑ์และมาตรฐาน ESG คำตอบคือ สิ่งนี้แหละคือจุดแข็งของ บลจ. ยูโอบี จากการที่เราได้ริเริ่มและเป็นผู้นำการลงทุนในด้าน ESG เราตั้งเป้าที่จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนด้านความยั่งยืนชั้นนำของทวีปที่สามารถสร้างมูลค่าในระยะยาวและผลกระทบเชิงบวกต่อผู้มีส่วนได้เสีย เราต้องการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการลงทุนด้าน ESG ให้กับนักลงทุน และนี่คือเหตุผลที่เราเป็นผู้จัดการกองทุนรายแรกในเอเชียที่นำปัจจัยด้าน ESG มาบูรณาการเข้ากับปรัชญาและกระบวนการลงทุน และที่สำคัญกลุ่ม บลจ.ยูโอบี และ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ยังเป็นผู้จัดการกองทุนรายแรกในเอเชียที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ United Nations Principles for Responsible Investment (UNPRI) อีกด้วย

สำหรับกระบวนการลงทุนอย่างยั่งยืน เราใช้หลักการประเมิน ESG แบบองค์รวม (holistic approach) โดยการคำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันของ E S และ G ประกอบการพิจารณาลงทุนด้วย นับตั้งแต่ปี 2564 บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ได้นำเสนอกองทุนในธีม ESG จำนวน 5 กองทุนสำหรับลูกค้ารายย่อย และอีก 2 กองทุนสำหรับลูกค้าสถาบัน

ในมุมมองของเรา การลงทุนด้าน ESG นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การคัดเลือกบริษัท มองดู เฝ้ารอ และหวังว่าบริษัทเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม เราได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับบริษัทที่เราลงทุนในฐานะนักลงทุนในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการนำปัจจัยด้านความยั่งยืนมาใช้ในองค์กร หรือการปรับปรุงมาตรฐานด้านธรรมาภิบาล ซึ่ง บทบาทของเราไม่ใช่เพียงแค่ให้ความสำคัญกับบริษัทที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้บริษัทเหล่านั้นดำเนินการอย่างจริงจังด้วย
 
 
เครื่องมือด้าน ESG ที่มีประสิทธิภาพ

ถึงแม้ว่าเรามีเกณฑ์ในการพิจารณาและคัดเลือกบริษัทด้านความยั่งยืนที่เข้มข้น และไม่ได้ขึ้นกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญท่านใดท่านหนึ่ง สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น เรามีหลักเกณฑ์การการคัดเลือกบริษัทต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และมีการกำหนดสัดส่วนน้ำหนักการให้คะแนนที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมทั้ง 11 ประเภท ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน Global Industry Classification Standard (GICS) และ Sustainability Accounting and Standard Board (SASB) materiality map

ดังนั้น ขั้นตอนในการคัดเลือกบริษัทที่เราลงทุน จะทำให้เราได้บริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ดีควบคู่กับผลประกอบการด้านการเงินที่แข็งแกร่ง ในกรณีที่บางบริษัทมีฐานะการเงินที่มั่นคงแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านความยั่งยืน หลักทรัพย์นั้นก็จะถูกคัดออกไปจากกลุ่มสินทรัพย์ที่ลงทุน นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานด้าน E S และ G ของหลักทรัพย์ที่เราลงทุนนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพื่อการติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิด เรามีระบบ ESG News Alert หรือ ระบบการติดตามข่าวสาร ESG ที่เป็นปัจจุบัน เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับทุก ๆ หลักทรัพย์ในพอร์ตของเรา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence-Machine Learning (AI-ML) ESG model ที่เรียกว่า ESG Analyser ในการตรวจหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้าน ESG

ซึ่งทำให้เราสามารถติดตามข่าวบริษัทและความขัดแย้งทางด้าน ESG ได้อย่าง Real Time นอกจากนี้เรายังเสริมกระบวนการให้คะแนน ESG โดยการมีส่วนร่วมกับบริษัทที่ลงทุน (engagement) ในประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น 1) ธีมความยั่งยืน (ESG themes)[5] 2) ประเด็น ESG ที่น่าสนใจ (local ESG issues) และ 3) ประเด็นความขัดแย้งด้าน ESG (ESG controversies) ทั้งนี้ การลงทุนด้าน ESG ส่วนใหญ่มักจะเป็นไปอย่างผิวเผิน เราจึงต้องใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น ESG Analyser, ESG Materiality Map และแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่น ๆ ในการประเมินการลงทุน เพื่อความถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่จะสนับสนุนการพัฒนาด้านความยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน และสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งจากผลการศึกษา พบว่า การจัดอันดับ ESG ของ บลจ. ยูโอบี มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการดำเนินงานของตลาด

กล่าวคือ การจัดอันดับการให้คะแนน ESG ของบลจ. ยูโอบี ประกอบไปด้วย ช่วงคะแนนตั้งแต่ A ถึง D โดย A หมายถึงคะแนนสูงสุด เป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีผลประกอบการด้านความยั่งยืนดีที่สุด ซึ่งบริษัทเหล่านี้ นอกจากจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหลักทรัพย์ในกลุ่มอื่น ๆ แล้ว ยังมีความผันผวนและมีผลขาดทุนสูงสุดที่ต่ำกว่าด้วย นอกจากนี้ เรายังพบว่า บริษัทที่ได้คะแนนระดับ A จะมีผลตอบแทนที่เปรียบเทียบกับระดับความเสี่ยงของการลงทุน (Risk-adjusted Return) ที่ดีกว่าบริษัทที่ได้คะแนนระดับ D ซึ่งหมายความว่า ความเสี่ยงจากการลงทุนบางส่วนสามารลดลงได้จากปัจจัยบวกทางด้าน ESG ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า มาตรฐานการให้คะแนน ESG ของกลุ่มบลจ. ยูโอบี นั้น เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
 
 
โอกาสการลงทุนด้าน ESG ในประเทศไทย

หากมีคำถามว่าโอกาสการลงทุนด้าน ESG ในตลาดกำลังพัฒนาที่กำลังมุ่งไปสู่งสังคมคาร์บอนต่ำนั้นอยู่ที่ตรงไหน คำตอบคือ ภาครัฐคาดว่าพลังงานงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของพลังงานรวมภายในปี 2580 ซึ่งหมายความว่า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานสะอาดอื่น ๆ นั้นจะเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ

การลงทุนในบริษัทที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนั้นสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ บริษัทเหล่านี้อาจเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ไฟ LED และเครื่องควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ (Smart Thermostat) หรือการให้บริการที่จะช่วยให้ธุรกิจหรือครัวเรือนลดการใช้พลังงานลง

ในขณะเดียวกัน ระบบการเก็บกักพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ หรือเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cells) จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งพลังงานทดแทนได้ การลงทุนในบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ เราจะเห็นได้ว่ามีโอกาสการลงทุนมากมายที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติการณ์พลังงาน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) ได้ตระหนักถึงเรื่องวิกฤติพลังงาน และเราหวังว่าจะเป็นผู้เสนอทางเลือกที่ดีให้แก่นักลงทุน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้เปิดตัวกองทุนเปิด ยูไนเต็ด แบตเตอรี่ แอนด์ อีวี เทคโนโลยี ฟันด์ – หน่วยลงทุนชนิดเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (UEV) กองทุนนี้เน้นการลงทุนในกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ และ/หรือกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสารการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งครอบคลุมถึงการทำเหมืองไปจนถึงการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงบริษัทที่ดำเนินการและ/หรือได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งในอนาคตด้วย
 
 
ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเติบโต

การลงทุน ESG ได้กำเนิดและพัฒนามาจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการลงทุนและการเงินอย่างยั่งยืน อันเป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ เช่น กฎหมายภาษี EU Taxonomy และ Sustainable Finance Disclosure Regulation (SFDR) ที่กำหนดให้เปิดเผยเรื่องการเงินแบบยั่งยืน เช่นเดียวกับในหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและออสเตรเลียที่มีการนำ ESG best practices มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะเอเชียนั้น หลาย ๆ ประเทศมีเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวเร็วและมีการขยายตัวของสังคมเมืองสูง ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทดแทน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในขณะที่สถาบันการเงินในไทยก็มีการเร่งสนับสนุนโครงสร้างด้านการลงทุนด้าน ESG อย่างรวดเร็ว

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกแนวทางในการปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund หรือ SRI Fund)[6] สำหรับผู้จัดการกองทุน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงมาตรฐานการบริหารกองทุน SRI และป้องกันการให้ข้อมูลที่ทำให้นักลงทุนเข้าใจผิด หรือที่เรียกว่า Greenwashing

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ออกประกาศนโยบายเพิ่ม โดยกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยการดำเนินการด้าน ESG ในรายงานประจำปี และในปีที่ผ่านมา กลต. ได้เผยแพร่คู่มือเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสำหรับผู้ประกอบธุรกิจจัดการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกรอบในการบริหารความเสี่ยงเรื่องสภาพภูมิอากาศ

ในขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้าน ESG เช่น การกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลและแนวทางที่เกี่ยวกับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ การประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืนของไทย (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) โดยพิจารณาจากบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมตอบแบบประเมินและผ่านเกณฑ์ ESG ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืนและสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนให้มีการพัฒนาการดำเนินงานด้าน ESG ด้วย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยนั้นเป็นตลาดที่กำลังร้อนแรงในเรื่องการลงทุนด้าน ESG อันเป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐ มาตรการด้านการเงิน และการเป็นผู้นำในภูมิภาค ซึ่งเรากำลังจะได้เห็นการเติบโตด้านการลงทุน ESG ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผนวกกับความต้องการของคนรุ่น Millennials และ Generation X

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนเพื่อความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม และตระหนักว่าการลงทุนของพวกเขานั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมหรือไม่ ในขณะที่การลงทุนด้าน ESG กำลังเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง เราหวังว่านักลงทุนจะมองหาโอกาสการลงทุนอย่างยั่งยืนในประเทศ อย่างเช่น ประเทศไทย และเราหวังว่า บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จะเป็นก้าวสำคัญในการลงทุนด้าน ESG สำหรับนักลงทุนต่อไป

 
 
บทความโดย : ดร. ณรงค์เดช เถกิงเกียรติ ผู้อำนวยการการลงทุนอย่างยั่งยืน สายการลงทุน

ติดตามข้อมูลการลงทุนอย่างยั่งยืนได้ที่ https://www.uobam.co.th/th/Sustainability
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2786-2222

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

สามารถติดตามข่าวสารด้าน ESG, ด้านการลงทุน, วางแผนการเงิน, บทความทางการเงิน และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ที่ UOBAM Thailand Line Official