ส.อ.ท.ชี้น้ำท่วมฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ผุด 4 มาตรการช่วยผู้ประกอบการ

HoonSmart.com>>ส.อ.ท.เผยอุทกภัยดึงฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ลดลงต่อเนื่อง เสนอรัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแบบเรียลไทม์ ขอพักชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ย 12 เดือน ผุด 4 มาตรการช่วยผู้ประกอบการ งดจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ย ค่าไฟ-ภาษี ชั่วคราว

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ ร่วมเปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ระดับ 87.1 ปรับตัวลดลง จาก 87.7 ในเดือนสิงหาคม 2567

ทั้งนี้ มีปัจจัยด้านลบจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนของประชาชน พื้นที่การเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงพื้นที่การท่องเที่ยว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มูลค่าสูงถึง 30,000 – 50,000 ล้านบาท ขณะที่กำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอจากแรงกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือน ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าคงทนก็ยังคงชะลอตัวลง สะท้อนจากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในประเทศช่วง 8 เดือน (มกราคม –สิงหาคม 2567) หดตัว 24% และ 11% YoY ตามลำดับ

นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการของภาครัฐ โดย ณ วันที่ 27 กันยายน 2567 เบิกจ่ายงบลงทุนได้เพียง 63.31% ส่งผลให้ยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลง อีกทั้งปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าจีน ยังส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทย ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญการแข่งขันสูง การแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วกดดันภาคการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย

อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 34.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม 2567 เป็น 33.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2567 ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% สู่ระดับ 4.75%-5.00% ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน ยังมีปัจจัยบวกจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 โดยการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการจำนวน 14.5 ล้านราย ช่วงวันที่ 25–30 กันยายน 2567 ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 กันยายน 2567 ที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 26,005,295 คน ขยายตัว 30% (YoY) สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มูลค่า 1,214,681 ล้านบาท และภาคการส่งออก ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก อาทิ สหรัฐฯ จีน อาเซียน ยุโรป อินเดีย แอฟริกาและตะวันออกกลาง เป็นต้น และอัตราค่าระวางเรือ (Freight rate) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,353 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนกันยายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 67.3 อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 48.1% ตามลำดับ สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 58.6% ราคาน้ำมัน 49.8% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 36.3% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 36.0% ตามลำดับ

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.2 ในเดือนสิงหาคม 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการ 10,000 บาท เฟส 2 จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วง High Season และได้รับผลบวกจากมาตรการส่งเสริมท่องเที่ยวภาครัฐ อานิสงค์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยในสินค้าปิโตรเคมี ยางพารา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จากความต้องการสินค้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการยังคงห่วงกังวล ได้แก่ สภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้น กระทบต่อวัตถุดิบในภาคเกษตร ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ เป็นความเสี่ยงต่อภาคการส่งออก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและลดความผันผวน รวมถึงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
2. ขอให้ภาครัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีความแม่นยำถูกต้อง และสามารถแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์(Real time) ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเร่งแก้ไขปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ป่า เพื่อรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำป้องกันปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม
3. เสนอให้ภาครัฐพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2567 อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าจากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้นำคณะพบปะและช่วยเหลือสมาชิก ส.อ.ท. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในจังหวัดเชียงรายเมื่อเดือนกันยายนนั้น ส.อ.ท. ยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ส.อ.ท. ได้มีการติดตามสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2567 พบว่า มีผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. ได้รับผลกระทบ ดังนี้

1. ท่วมเสียหายหนัก (เครื่องจักร ระบบไฟฟ้าภายในอาคาร อุปกรณ์สำนักงานเสียหาย) จำนวน 23 บริษัท
2. ท่วมเสียหายปานกลาง จำนวน 17 บริษัท
3. ท่วม แต่ช่วยเหลือตัวเองได้ จำนวน 36 บริษัท
4. ไม่ท่วม แต่ได้รับผลกระทบ จำนวน 52 บริษัท

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้ภาครัฐพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีความแม่นยำถูกต้อง และสามารถแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์ (Real time) ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเร่งแก้ไขปัญหาการทำเกษตรในพื้นที่ป่า เพื่อรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำป้องกันปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม

“สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ค่อนข้างมาแรงและเร็ว และเข้ามาช่วงท่องเที่ยวปลายปี อีกทั้งช่วงปลายปีไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้า เราจะเจอกับปัญหา PM 2.5 อีก วิกฤติต่างๆ เหล่านี้ จะกระทบสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด” นายอิศเรศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. จัดทำมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

1.ด้านการเงิน
-พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างน้อย 12 เดือน
-ลดค่างวด 50% และลดดอกเบี้ย 1% นาน 12 เดือน
-กู้ซ่อมแซมบ้านและสถานประกอบการได้ 100% ดอกเบี้ยต่ำ
-เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 1% เพื่อหมุนเวียนและฟื้นฟูกิจการจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือกองทุนประชารัฐจากกระทรวงอุตสาหกรรม
2.ด้านภาษี
-เครื่องจักรและวัตถุดิบสามารถย้ายออกจากโรงงานไปยังสถานที่อื่นหรือส่งออกในกรณีฉุกเฉินได้ โดยขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สามารถกระทำได้ภายหลัง
-สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามาเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากเหตุอุทกภัย รวมทั้งสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้ในคราวเดียวกัน
-ยกเว้นอากรนำเข้าวัตถุดิบที่นำเข้าตามมาตรา 36 ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย
-ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในบางรายการ

3. ด้านค่าธรรมเนียมของกระทรวงอุตสาหกรรม
-ขอขยายระยะเวลาลงทะเบียนโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมจากสิ้นสุด วันที่ 31 ตุลาคม 2567 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567

4. ด้านค่าสาธารณูปโภค
-ไม่ต้องชำระค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ SMEประจำเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2567
-ยกเว้นการเก็บค่าน้ำประปาและค่าบริการทั่วไปสำหรับที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการ SME ประจำเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2567