จี้ตลท.ทบทวนค่าธรรมเนียม ‘เก๋ากึ๊ก’ ฟันอัตรากำไรสุทธิสูงลิ่ว 30%

HoonSmart.com>> คนวงการตลาดทุนเรียกร้องตลาดหลักทรัพย์(SET) ทบทวนค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บมานาน ไม่ทันสถานการณ์  ธุรกิจใหญ่ขึ้นมาก จำนวนบจ.มากถึง 800 บริษัท ผลิตภัณฑ์’อนุพันธ์’มากกว่า 2,000 ตัว ตะลึง! TFEX กอบโกยอัตรากำไรสุทธิสูงประมาณ 40% ส่วน SET-TSD เก็บเป๋าตุง 30% สวนทางเอกชนแข่งขันดุเดือด ทั้งโบรกเกอร์-บจ. หลายธุรกิจเหนื่อย เหลือเน็ทมาร์จิ้นหลักเดียวไม่ถึง 10%

แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุนกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ผูกขาดการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปัจจุบันเวลาที่ผ่านมาเกือบ 50 ปี แต่ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากคู่ค้า โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ยังคงเหมือนเดิม แม้ว่าขนาดของธุรกิจจะมีการเติบโตขึ้นมากก็ตาม เห็นได้จากจำนวนบจ.มีทั้งหมดมากกว่า 800 บริษัท แบ่งเป็นบจ.ใน SET จำนวน 619 บริษัท และบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ (mai) จำนวน 207 บริษัท นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาอีกมากมาย โดยเฉพาะตราสารอนุพันธ์ เช่น DW และวอร์แรนต์ รวมกว่า 2,000 ตัว สร้างรายได้สูงมากให้กับตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทในเครือ ที่มีการผูกขาดทางธุรกิจเช่นเดียวกัน

“หากคิดเฉพาะรายได้จากธุรกิจปกติ ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประเทศไทย หรือ TFEX มีอัตรากำไรสุทธิสูงประมาณ 40% ต่อปี ส่วน SET และ TSD มีอัตรากำไรสุทธิสูงเกือบ 30% เพราะรายได้เพิ่มขึ้นมากตามขนาดของธุรกิจ  เช่น บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย)  ที่ให้บริการรับฝากหลักทรัพย์ และนายทะเบียนของบจ.รวมถึงตราสารหนี้  สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายคงที่ได้สบายๆ ถึงแม้จะมีการลงทุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือและระบบเพิ่มก็ยังรับมือไหว”

ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์เคยปรับปรุงค่าธรรมเนียมบ้าง แต่นานมาก ในสมัยที่ คุณสิริลักษณ์ รัตนากร  เป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2525-2528  เปลี่ยนการคิดค่าธรรมเนียมที่เก็บจากบจ. จากทุนจดทะเบียน เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ที่เพิ่มขึ้นตามกำไรทุกปี แม้ไม่มีการเพิ่มทุนก็ตาม  เพื่อนำเงินมาจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน หลังจากนั้นแทบจะไม่มีการปรับปรุง  ยกเว้นในช่วงวิกฤตโควิดระบาด ทางตลาดหลักทรัพย์มีการลดให้โบรกเกอร์และบจ.แต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งอยากให้พิจารณาให้เป็นการถาวร

ตลาดหลักทรัพย์จะต้องคิดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ให้รอบด้าน ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจมีการแข่งขันรุนแรงมาก หลายอุตสาหกรรมแทบจะอยู่ไม่ได้  หรือเหลืออัตรากำไรสุทธิเพียงหลักเดียว  แต่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์สูงเหมือนที่ผ่านมา  กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและความอยู่รอดในระยะยาว

จากงบการเงินรวมของตลาดหลักทรัพย์มีรายได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท/ปีอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จากระดับ 3-4,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท ในปี 2564-2565  ทำให้มีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย เพียง 1,406-1,597  ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีสูงกว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้  SET มีหน้าที่นำส่งเงินกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 90% ของทุกปีให้กับกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)