บล.บัวหลวงเสนอทางเลือกใหม่ ซื้อหุ้น 6 เดือน มีโอกาสได้ดอกเบี้ย 5-20% ต่อปี

HoonSmart.com>>ตลาดหุ้นไทยลงทุนยากขึ้นมาก นักลงทุนจะยังเข้าไปเสี่ยงต่อไป ทำไม? รู้หรือยัง ตอนนี้มีเครื่องมือในการสร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอระยะสั้น โดยไม่ต้องเทรดดิ้งหุ้นเอง  เพียงแต่นักลงทุนต้องรู้ว่า “อยากซื้อหุ้นใหญ่ใน SET 50 ตัวอะไร และ ณ ราคาที่ใช่ ก็จะได้ดอกเบี้ยสมเหตุสมผล” เมื่อเข้าไปลงทุนผ่านหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงระยะสั้น อายุประมาณ 6 เดือน หรือ Fixed Coupon Note (FCN) ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง มีโอกาสได้ผลตอบแทน 5-20% ต่อปี

อรรถนันต์ ปิยเศรษฐ์

“อรรถนันต์ ปิยเศรษฐ์” ผู้อำนวยการ ฝ่าย Structured Product บล.บัวหลวง (BLS) เล่าให้ฟัง บริษัทออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงระยะสั้น หรือ FCN ซึ่งหลังจากโควิดคลี่คลาย ได้รับการตอบรับที่ดีมาก เติบโต 100% 2 ปีติดต่อกัน สำหรับหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง อ้างอิงราคาหุ้น (หุ้นใหญ่ใน SET 50) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อเดือน เพราะมีการออกแบบมาเพื่อสร้างกระแสเงินสดสม่ำเสมอและสร้างโอกาสผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป  ขณะเดียวกันผู้ลงทุนสามารถปรับแต่งเงื่อนไขให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังได้เอง ทั้งนี้กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท  และขายให้เฉพาะนักลงทุน high net worth เท่านั้น

จุดเด่นคือ FCN จะมีการชำระดอกเบี้ยเป็นเงินสด (ทุกรอบเดือน หรือทุก 2 สัปดาห์) ในระหว่างถือครอง แต่ FCN จะจ่ายคืนเงินต้นที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับราคาหุ้นอ้างอิงในสัญญา หากลงทุนครบ 6 เดือนแล้ว ราคาไม่ลงมาต่ำกว่ากรอบล่างคือ 10% จากวันแรกที่ลงทุนก็จะได้เงินต้นคืนทั้งหมด ราคา Knock Out (KO) แม้ว่าระหว่างทางราคาจะลงต่ำกว่าแล้วเด้งกลับก็ตาม แต่ในทางกลับกันหากครบ 6 เดือนแล้ว ราคาต่ำกว่ากรอบที่กำหนด มีโอกาสได้รับไถ่ถอนเป็นหุ้นอ้างอิง ไปถือไว้เพื่อรอโอกาสให้ราคาเด้งกลับมา ที่สำคัญการลงทุนใน FCN จะไม่มีการคุ้มครองเงินต้น

“อรรถนันต์” กล่าวว่า หุ้นกู้อนุพันธ์แฝงที่อ้างอิงกับราคาหุ้น ได้รับความนิยม เพราะพฤติกรรมตลาดหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมาะสำหรับกลยุทธ์ซื้อเพื่อถือลงทุนระยะยาว จะต้องเทรดดิ้งมากขึ้น  ซื้อถูกขายแพง แต่เป็นกลยุทธ์ที่ไม่เหมาะกับทุกคน  โดยพบว่า นักลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง สัดส่วน 50% เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เล่นหุ้นเป็นรอบใหญ่ ไม่ได้ซื้อขายบ่อย มีความเข้าใจการลงทุนหุ้นอยู่แล้ว และอีก 50% เป็นนักลงทุนรายใหญ่ ที่อยู่ในตลาดหุ้นกู้ แต่มีประสบการณ์เล่นหุ้นดีอยู่แล้ว ยอมรับว่าการลงทุนในตราสารที่อิงกับหุ้นมีโอกาสขาดทุน

ขอยกตัวอย่าง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เป็นหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดี แต่นิสัยของราคาหุ้นมักจะไม่ไปไหน แกว่งในกรอบ 3 บาท ประมาณ 27-30 บาท ซึ่ง FCN ที่อ้างอิงกับหุ้น BDMS จะให้ดอกเบี้ย 9% ต่อปี กรณีลงทุน 1 ล้านบาท ถ้าราคาหุ้นเกินกว่าวันแรก 27.75 บาทคือ 30 บาท จะได้ดอกเบี้ยประมาณ  7,000 บาท/เดือน โดยไม่ต้องเทรดหุ้นเอง หากถือครบ 6 เดือนจะได้ผลตอบแทนประมาณ 45,993.64 บาท โจทย์หากต้องการดอกเบี้ย หุ้นอยู่ในกรอบบนและกรอบล่าง กรอบบนราคาวันแรก 27.75 บาท เหลือ 24.98 บาท ราคาไม่แตะ 25 บาท งวดสุดท้ายจะได้เงินต้นคืน 100% ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องถือจนครบ  6 เดือนสามารถเอาเงินต้นคืน จะเปลี่ยนไปซื้อหุ้นอ้างอิงตัวอื่นแทน  หรือจะลงทุนหุ้นโดยตรงก็ได้

ส่วนบริษัท คาราบาวกรุ๊ป (CBG) อาจจะได้ดอกเบี้ย 16% ต่อปี บริษัท คอมเซเว่น (COM  7) ได้ 15% บริษัทท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้ดอกเบี้ย 5% ซึ่ง ดอกเบี้ยยิ่งสูงสะท้อนถึงความเสี่ยง

ดังนั้นหากนักลงทุนเชื่อว่า ความเป็นไปได้ที่หุ้นจะวิ่งใน 3 เดือน ถ้าการเมืองชัดเจน ตลาดจะปรับตัวลงไม่มาก ตราสารนี้จะเพิ่มทางเลือกลงทุน สร้างผลตอบแทนเมื่อตลาดไซด์เวย์ เทียบกับตลาดหุ้นในช่วง 6 เดือนแรกปี 2566 ดัชนีขึ้นไป  1,700  จุด แล้วลงลึกสุด -12 % ส่วน FCN ที่ออกแล้วหมดอายุ พบว่า ทุกๆ 100 สัญญา มี 76 สัญญา ได้คืนเป็นเงินสด ลูกค้าไม่ขาดทุน เพราะราคาสูงกว่าวันแรก ส่วน 24% ได้หุ้นไปถือครอง

“มี 3 คนอยู่รอดปลอดภัย แต่ 1 คน ติดคุก สะท้อนว่า FCN เป็นตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่ดีระดับหนึ่ง  เพื่อให้มีกระแสเงินสด จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการบริหารความมั่นคั่งเพื่อความมั่นคง”อรรถนันต์กล่าวทิ้งท้าย