‘ภากร’ หาทางแก้วอลุ่มตลาดหดตัว STARK-ALL ผิดนัดหุ้นกู้ฉุดหุ้นกลาง-เล็ก

HoonSmart.com>>’ภากร ปีตธวัชชัย’คุยผลงานชิ้นโบว์แดง คดี MORE-STARK ฟ้องร้องได้เร็ว ไม่เคยเห็นมาก่อน สร้าง Benchmark ผลทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ยอมรับป้องกันบจ.ทุจริตฉ้อโกงไม่ได้ ทำได้เพียงการให้ข้อมูลเร็วขึ้น เผยวอลุ่มตลาดหดตัว เป็นสิ่งที่กังวล จะต้องหาแนวทางแก้ไข ตลาดหุ้นต่างประเทศก็เจอเพราะนักลงทุนในประเทศชะลอลง  “ศรพล” เผยบจ.ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ (ALL-STARK) กระทบเชื่อมั่น พุ่งเป้าทิ้งหุ้นกลาง-เล็ก  ตอนนี้ดีขึ้น นักลงทุนหันมาลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น 

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวถึงกรณีที่มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิดที่ถูกกล่าวโทษ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) รวม 10 ราย อยากให้มองย้อนหลังในกรณี MORE หรือ STARK การทำงานของตลาดหลักทรัพย์ร่วมกับทุกหน่วยงาน สามารถฟ้องร้องได้รวดเร็ว ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เป็น Benchmark (บรรทัดฐาน) ที่ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สามารถแก้ไขได้รวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะป้องกันมากแค่ไหนก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นการกระทำทุจริตฐานฉ้อโกง ซึ่งคงจะต้องมาช่วยกันดูต่อว่าในอนาคตจะทำอย่างไรหรือให้ข้อมูลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้การป้องกันเรื่องแบบนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เรื่อง STARK ตลท.ได้ประสานงานและทำงานร่วมกับก.ล.ต.มาตั้งแต่ช่วงบริษัทแจ้งไม่ส่งงบการเงิน(กลางเม.ย.66) ซึ่งพอมีความชัดเจนก็ได้มีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด”นายภากรกล่าว

ส่วนผลกระทบที่ทำให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดเบาบางลง เป็นสิ่งที่กังวล จะทำอย่างไรให้สภาพคล่องกลับขึ้นมา แต่ปัญหานี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะตลาดหุ้นไทย นักลงทุนในประเทศไม่เข้ามา เพราะยังไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง สำหรับนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการซื้อขายมากขึ้น ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพ เพราะมีไม่กี่เจ้า มีการเข้าออกได้ง่าย ทั้งนี้ตลาดจะมีการจัดงาน Thailand focus 2023 ในวันที่ 23-25 ส.ค.นี้ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ในปี 2565 ตลาดหุ้นไทยทั้ง SET-mai มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละ 76,773 ล้านบาท ลดลง -18.2% เทียบกับปี 2564 ส่วนในปี 2566 (YTD) ครึ่งปีแรก อยู่ที่เฉลี่ย 58,670 ล้านบาทหรือ-32.8% หลังจากไตรมาสแรกและไตรมาสสองรูดลงมากกว่า 30% โดยเฉพาะเดือนเม.ย.ทรุดลง -43.1% เหลือเฉลี่ย 46,811 ล้านบาท ต่ำที่สุดในรอบปี 2566

ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนมิ.ย.2566 ธนาคารโลก ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตขึ้นที่ 3.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตลาดหุ้นลดลงจากต้นปี 2566 จากกรณีมีหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนบางแห่งผิดนัดชำระหนี้ (ALL-STARK) ส่งผลให้มีความกังวลในการลงทุนทั้งในตลาดตราสารทุน และตราสารหนี้ จึงเห็นแรงเทขายในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่การเมืองไทยที่มีพัฒนาการดีขึ้นหลังได้ประธานสภาฯ ส่งผลให้ดัชนีต่างๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น และหากพิจารณาจากอัตราส่วน Forward PE ของ SET ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้ผู้ลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศเริ่มกลับมาซื้อสุทธิในครึ่งแรกปี 2566

ทั้งนี้ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2566 อยู่ที่ระดับ 16.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.8 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 20.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.2 เท่า

นายศรพลกล่าวว่า ในครึ่งแรกปี 2566 ผลตอบแทนของสินทรัพย์ในแต่ละกลุ่ม แสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนมีความสนใจในสินทรัพย์เ์สี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้น เติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่อีกทั้งหุ้นกู้ High Yieldที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าโดยรวม สะท้อนมุมมองผู้ลงทุนที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย
อย่างรุนแรง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจเห็นสัญญาณจากรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นในภาคการคลังขนาดใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งอาจส่งผลบวกต่อบจ.ไทยที่ได้รับอานิสงส์จากที่มีการค้าขายกับจีนมาก รวมถึงภาคการท่องเที่ยว

ด้านตลาดหุ้น ณ สิ้นเดือนมิ.ย.  SET Index ปิดที่ 1,503.10 จุด ลดลง 2.0% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 9.9% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในอาเซียน ในเดือนมิ.ย. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 8,617 ล้านบาทเป็นเดือนที่ห้า
อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ที่ระดับ 49.82% ตามด้วยนักลงทุนรายย่อย 34.56% และสถาบันในประเทศ