กรณีศึกษา STARK & OTO ตลาดฯ-ก.ล.ต.ต้องรีบ Take Action

HoonSmart.com >> กรณีศึกษา STARK & OTO ตลาดฯ-ก.ล.ต.ต้องรีบ Take Action

เรื่อง Talk of the Town สำหรับนักลงทุนตลาดหุ้นไทย ในเวลานี้ คงหนีไม่พ้นหุ้น บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) และบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์  (OTO) ที่เวลานี้สร้างความเสียหาย และความบอบช้ำให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก จากราคาหุ้นที่ดำดิ่งลงอย่างน่าใจหาย

OTO เกมส์หุ้น ที่กลายเป็นสึนามิ เป็นอาชญากรรมตลาดหุ้น ยืมหุ้นไปขาย (ชอร์ตเซล) ทั้งที่ถูกกฎตลาดและไม่ทำตามกฎตลาด (์Naked Short) สร้างความเสียหายกับราคาหุ้นและนักลงทุนอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 5 วันติดต่อกัน จากหุ้นราคา  16.20 บาท (ราคาปิด ณ. 9 มิ.ย.) ปิด 16 มิ.ย. ราคาน่าใจหาย 2.68 บาท

ส่วนหุ้น STARK จากหุ้นราคาก่อนเปิดซื้อขายชั่วคราว 2.38 บาท ราคาปิด ณ 16 มิ.ย.เหลือ 0.08 บาท

ถือเป็นกรณีศึกษา และเป็นบทเรียนราคาแพง สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น STARK และ OTO

เรื่องราวของ  STARK  …วันที่ 16 มิ.ย.66 ที่ผ่านมา ส่งงบปี 65 ได้ตามกำหนด แต่ก็ทำให้นักลงทุนถึงกับตะลึง!

เพราะขาดทุนยับเยินกว่า  6.6 พันล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.5393 บาท พร้อมทั้งแก้งบปี 64 เปลี่ยนเป็นขาดทุน 5,965 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.501 บาท จากเดิมที่เคยแจ้งว่ากำไร 2.7 พันล้านบาท หลังจากผู้สอบบัญชีพบความผิดปกติหลายจุด

ขณะที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองงบการเงินโดยไม่แสดงความเห็น ด้วยเหตุที่ได้พิจารณาถึงสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนต่อความสามารถในการเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง (Going Concern) ของกลุ่มบริษัทฯ

ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวม 6,628 ล้านบาท และมีส่วนของเจ้าของติดลบ 4,404 ล้านบาท โดยหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้น เงินกู้ยืมระยะยาวและหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ซึ่งหนี้สินระยะสั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดประเภทเงินกู้ยืมระยะยาวเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น เนื่องจากอัตราส่วนทางการเงินบางรายการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้ระยะยาวและหนังสือชี้ชวนหุ้นกู้

@@@ กลโกง สูบเงิน STARK

บริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส ผู้สอบบัญชี STARK รายงานว่า พบว่า รายการจ่ายเงินล่วงหน้า ค่าสินค้าให้แก่บริษัทคู่ค้าของ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ จำนวน 3 รายการ เป็นเงินรวม 10,451 ล้านบาท (คิดเป็น 65% ของยอดซื้อทองแดงและอลูมิเนียมทั้งปี ) ซึ่งรายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่สินคำดังกล่าว เป็นรายการที่เป็นสาระสำคัญ และเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม 2565

โดยปกติแล้ว บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ จะทำการสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้า โดยการเปิด Letter of Credit (L/C) โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินค้าล่วงหน้า รายการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้าดังกล่าว เป็นรายการที่ไม่เป็นไปตามปกติของการดำเนินธุรกิจของ เฟัลปส์ดอด์จ

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจ่ายเงินออกไปจริง แต่ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินให้แก่บริษัท คู่ค่าทั้ง 3 รายการ โดยมีข้อเท็จจริงปรากฎว่า เป็นการโอนเงินออกไปให้ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียรั่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง ผู้บริหารได้ยอมรับและได้ทำการปรับปรุงรายการบัญชีในงบการเงินรวมปีปัจจุบันให้ถูกต้องแล้ว

ทั้งนี้ จากข้อมูลบริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีนายวิฑูย์ สุริยารังสรรค์ และนายกิจจา คล้ายวิมุติ เป็นกรรมการ และ เอเชีย แปซิฟิก ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท ทีมเอ โฮลดิ้ง มีนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท

สรุปคร่าวๆ ปมหลักที่ลากหุ้น STARK จากยอดเขา 4.56 บาท มา 0.07 บาท ในวันนี้ มาจาก “กลโกง” ที่ถูกวางแผนมาอย่างแยบยล ตั้งแต่ปี 2564-2565 ที่พึ่งมาเอ๊ะ กันในวันที่ผู้สอบบัญชีพิเศษ ตรวจพบ

พร้อมกับการออกมาแจ้งเตือนนักลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอให้ผู้ลงทุน พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงิน และผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) ของบริษัท STARK ด้วยความระมัดระวัง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน

@@@ OTO เหมือนกันที่ราคาหุ้น (ร่วง) ต่างกันที่ปัจจัยพื้นฐาน

ขณะที่ OTO ก็ทำเอานักลงทุนรายย่อยเจ็บปางตายไม่แพ้กัน ถ้าคิดจากราคาที่เคยขึ้นไปก่อหน้านั้น สูงสุด 24.40 บาท   ลงมา 6 ฟลอร์ แตะที่ 2.68 บาท ลงมา 89%

ตามหาตัวไอ้โม่ง ไม่รู้ว่าเป็นเจ้ามือหรือโรบอท กันแน่ที่ “ทุบหุ้น” แต่ที่แน่ๆ รายย่อยเจ็บหนักปางตาย

แต่ถ้าถามถึงปัจจัยพื้นฐานของ OTO คงไม่ได้เลวร้ายเหมือน STARK เพราะยังมีกระแสเงินสด หรือเงินในบริษัทฯ รวม ๆ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ระดับ 0.09 เท่า มีหนี้ราว 80 ล้านบาท แทบจะเรียกได้ว่าบริษัทไม่มีหนี้เลยก็ว่าได้ ใครที่คิดจะซื้อกิจการของ OTO ในเวลานี้ ต้องบอกว่าคุ้ม

OTO มีแผนลงทุนที่ชัดเจน แม้จะสะบักสะบอมจากเกมส์ทุบหุ้น ผ่านการแตกไลน์ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานลม และในวันที่ 1 ก.ค .66 นี้  “บัณฑิต สะเพียรชัย” ในฐานะพาร์ทเนอร์ เตรียมเข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เชื่อว่าจะเห็นแนวทางการมุ่งสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุมเวียน สร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ

เริ่มมีการตั้งคำถามของบรรดานักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานก.ล.ต. ทำอะไรอยู่ ถึงปล่อยให้ปัญหา STARK ลุกลามบานปลายได้ถึงเพียงนี้ ขนาดผู้สอบบัญชีระดับบิ๊กโฟว์ ยังไม่เห็นการเล่นแร่แปรธาตุงบการเงินเชียวหรือ แล้วรายย่อยจะไปพึ่งใคร

และเรื่องการปล่อยให้ราคาหุ้นไหลลง โดยไม่มีมาตรการสะกัดหุ้น “ขาลง” น่าจะมีมั๊ย เพราะกรณีที่เกิดขึ้นกับ OTO ตลาดฯเป็นคนส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนรายย่อยให้ระมัดระวัง เนื่องจากพบการซื้อขายที่ผิดปกติและกระจุกตัว ทำไมไม่หาทางดับไฟตั้งแต่ต้นลม หรือมีเฉพาะมาตรการสะกัดหุ้น “ขาขึ้น”

ถึงเวลาแล้วที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ-สำนักงานก.ล.ต. ต้องกลับมาทบทวนบทบาทใหม่ และ Take Action ให้เท่าทันกับสถานการณ์ ไม่ใช่ปล่อยให้นักลงทุนรายย่อย เผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง โดยให้เหตุผล “กลไก” ตลาดฯ

เพราะอย่าลืมว่า Case การปลด SP หุ้น STARK ทั้งที่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลงบการเงิน ได้สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อยไม่ใช่น้อย ที่โดดเข้าตะลุมบอล เก็งกำไรหุ้น STARK ทั้งที่ไม่มีข้อมูลครบถ้วน ประกอบการตัดสินใจลงทุน