บจ.จ่ายภาษีปี 65 นิวไฮ 3.75 แสนบ.-IPO เข้าตลาด 3 ปี จ่ายเพิ่ม 2.4 เท่า

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์เปิดผลงานวิจัย ตลาดหุ้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ บจ.เป็นห่านทองคำ จ่ายภาษีหนักมาก  ปี’65 จ่ายภาษีนิติบุคคลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 3.75 แสนล้านบาท สัดส่วน 50.2% ของภาษีนิติบุคคลทั้งประเทศ 7.47 แสนล้านบาท ภาษีปันผล หัก ณที่จ่ายอีกกว่า 3 หมื่นล้านบาท  ส่วนปี 64 บจ.จ่ายภาษีบุคคลธรรมดาสูงถึง 80,325 ล้านบาท ไม่รวมภาษีอื่นๆ อีก 277,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  หุ้นน้องใหม่แกร่ง หลังขาย IPO เข้าตลาด 3 ปี จ่ายภาษีพุ่งขึ้น  2.4 เท่า 

นางสาวสุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วิจัยเรื่อง ตลาดหุ้นไทย:บทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับการมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษีให้ภาครัฐว่า ตลาดทุนประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งมีส่วนในการสร้างงาน สร้างนวัตกรรม สร้างกำลังซื้อผ่านการจ้างงาน และสร้างผลกำไร ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างรายได้ให้ภาครัฐผ่านการมีส่วนร่วมในการจ่ายภาษี และเป็น “ห่านทองคำ” อีกตัวหนึ่งในหลายๆ ตัว ช่วยการเสริมสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 – 2565) รัฐบาลจัดเก็บภาษีสุทธิหลังหักการจัดสรรแล้วเฉลี่ยปีละ 2.37 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ประมาณ 80% จัดเก็บโดยกรมสรรพากร ซึ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุด ปีละกว่า 769,000 บาท สัดส่วน 41.1% ตามด้วย ภาษีนิติบุคคล 33.8% หรือกว่า 631,000 ล้านบาท และภาษีบุคคลธรรมดา จำนวน 323,000 ล้านบาทหรือ 17.3% รวมภาษี 3 อันดับแรกประมาณ 92.2%

หากพิจารณาเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในตลาดหุ้นไทยจากงบการเงินรวม พบว่า ในปี 2565 บจ.จำนวน 813 บริษัท จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมสูงสุดในประวัติศาสตร์ ด้วยมูลค่ารวมกว่า 375,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50.2% ของภาษีนิติบุคคลที่กรมสรรพากรจัดเก็บทั้งประเทศ สูงสุดเป็นประวัติการณ์รวมกว่า 747,000 ล้านบาท

“ในปี 2565 บจ.มีรายได้รวมสูงถึง 18.52 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% จากปีก่อน หรือเติบโตเฉลี่ย 5.5%ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”

นอกจากนี้กลไกการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้น ช่วยให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากบจ.นำส่งกรมสรรพากรในช่วง 3 ปี หลังจากเข้าจดทะเบียนซื้อขายมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เท่าเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนเข้าจดทะเบียน จากความสามารถในการสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นและความโปร่งใสในการทำบัญชีที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน บจ.ยังมีการจ่ายภาษีในรูปแบบต่างๆ และไม่รวมถึงภาษีต่างๆ ที่ผู้มีส่วนร่วมในตลาดหุ้นไทยได้จ่ายภาษีให้ภาครัฐ อาทิ ภาษีอื่นๆ และรวมทั้งอากร ที่บจ.จ่ายรวมกว่า 277,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ประมาณการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของบจ. ในปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 80,325 ล้านบาท หรือ 24% ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดที่สรรพากรจัดเก็บในปี 2564

ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย จากนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อมีการจ่ายปันผล ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงกว่า 249,000 ล้านบาท โดยในปี 2565มีการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย รวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ตลาดหุ้นไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมในฐานะผู้มีหน้าที่จ่ายภาษีให้แก่ภาครัฐ