ดีลอยท์ เผยคนไทยเครียดน้อยลง …ตะลึง !! ใส่ใจสิ่งแวดล้อมสูงสุดในโลก

HoonSmart.com>>ดีลอยท์เผยผลสำรวจ เจนซี – มิลเลนเนียลไทย ปี’67 เครียดน้อยลง แต่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Deloitte Global 2024 Gen Z and Millennial Survey – Thailand Perspective พบว่า เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทย มีความเครียดและความกังวลในเรื่องต่างๆน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยค่าครองชีพเป็นต้นเหตุของความกังวลอันดับ 1 โดยกังวลเรื่องการว่างงาน และ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่ง  ความไม่มั่นคงทางการเมือง/ความขัดแย้งระดับโลก

ในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม คนไทยทั้งสองกลุ่มมีความคาดหวังจากภาครัฐและภาคเอกชนลดลง แต่หันมาเชื่อในพลังของตนเองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีเป้าหมายในการทำงานชัดเจน ต้องการทำงานที่ตรงตามความมุ่งหมาย(Purpose) ของตน อยู่กับองค์กรที่เห็นคุณค่าตรงกัน และ เลือกที่จะไม่ทำในสิ่งที่ขัดกับคุณค่า ของตัวเอง

คนไทยรุ่นใหม่มีความคาดหวังว่าภาคธุรกิจควรมีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมองภาคธุรกิจควรสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของพนักงาน ให้ผลตอบแทนที่เท่าเทียมและโปร่งใส สนับสนุนด้านทุนการศึกษา และ สร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะไม่มาซ้ำเติมให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มมากขึ้น

ด้านสิ่งแวดล้อมคนไทยทั้งสองกลุ่ม มีความกังวลสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างมีนัยสำคัญ มองว่าภาครัฐและภาคธุรกิจควรมีบทบาทในด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

ทั้งนี้  92% ของเจนซี และ 93% ของมิลเลนเนียล ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแนวปฏิบัติยอดนิยม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าแฟชั่นด่วน (Fast Fashion) ลดการเดินทาง ศึกษาข้อมูลด้านการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทก่อนการอุดหนุนสินค้าของบริษัทนั้นๆ ทานมังสะวิรัติ หรือ วีแกน (Vegan) และ เลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า <span;>รวมถึงยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้านการทำงาน คนไทยรุ่นใหม่เลือกองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และ เป็นงานที่มีความหมาย

อย่างไรก็ดี โดยภาพรวม คนไทยทั้งสองกลุ่มเห็นว่านายจ้างใส่ใจความรู้สึก และมีความเห็นอกเห็นใจลูกจ้างมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดย 91% ของ เจนซีในประเทศไทย และ  93% ของ มิลเลนเนียลในประเทศไทย บอกว่างานปัจจุบันทำให้ตนเองรู้สึกถึงความมุ่งหมาย (Purpose) ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ  55% ของ เจนซี และ 60% ของ มิลเลนเนียลในประเทศไทย ปฏิเสธงานที่ได้รับมอบหมายที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง 55% ของเจนซี และ  57% ของมิลเลนเนียล ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับองค์กรที่ขัดต่อจริยธรรมและความเชื่อของตนเอง โดยจะเลือกทำงานกับองค์กรที่ตอบโจทย์ในการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) มีโอกาสในการเรียนรู้ และ เป็นงานที่มีความหมาย

ในภาพรวม เจนซีและมิลเลนเนียลในประเทศไทยเห็นว่านายจ้างมีความใส่ใจต่อพนักงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยเจนซี 70% และ มิลเลนเนียล  74%  ตอบว่านายจ้างให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของพนักงาน เจนซี  77% และ มิลเลนเนียล  76% ตอบว่ารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับผู้จัดการอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่น ๆ

“ดีลอยท์ติดตามความเคลื่อนไหวของคนทั้งสองเจนเนอเรชั่นทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราอยากทราบพัฒนาการทางความคิดและมุมมองของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ และ ความเข้าใจกันระหว่างคนในวัยต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น”นายอริยะ ฝึกฝน กรรมการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าว

น.ส.มานิตา ลิ่มสกุล ผู้จัดการอาวุโส ฝ่าย Human Capital ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ย้ำว่า เรื่องการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี หรือ Mental Well-being เป็นเรื่องสำคัญมาก กลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียล คือ แรงงานหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในวันนี้ องค์กรที่มีความเข้าใจ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และ สามารถปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลคนรุ่นใหม่ได้อย่างถูกต้อง จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ”

ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการฝ่าย Clients & Market ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ผลการสำรวจมีความน่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของคนไทยที่มีความแตกต่างจากค่าเฉลี่ยโลกในในหลายแง่มุม ถ้ามองให้ละเอียดกว่านั้น จะเห็นถึงความแตกต่างกันของคนในแต่ละเจนอีกด้วย