หุ้นแกว่ง รอเงินเฟ้อสหรัฐ ต่างชาติเชื่อมั่น “ร้อนแรง”

HoonSmart.com>>หุ้นปิดบวก 2.41 จุด แกว่งในกรอบคล้ายตลาดหุ้นทั่วโลก ช่วงรอดูเงินเฟ้อสหรัฐ ลุ้นกำไรบจ. สถาบันไทยช้อนต่อ  5,022.64 ล้านบาท ส่วนต่างประเทศกลับมาขาย 3,591 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศทิ้งต่อ 1,264.10 ล้านบาท สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเผยผลสำรวจนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า สถาบันไทยทรงตัว ส่วนต่างชาติเพิ่มความเชื่อมั่นร้อนแรง หมวดท่องเที่ยวฯน่าสนใจที่สุด ส่วนปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ถูกเมิน  ตลท.เผย SET เม.ย.66 ร่วง 5% ดึงดูดนักลงทุนซื้อกองทุนหุ้นไทยมากขึ้น สะสม 3 เดือนรวม 3,300 ล้านบาท ไหลเข้าระดับพันล้านครั้งแรกในรอบ 3 ปี 

ตลาดหุ้นวันที่ 9 พ.ค.66 ดัชนีแกว่งบวกสลับลบ ก่อนปิดที่ระดับ 1,564.66 จุด เพิ่มขึ้น 2.41 จุด หรือ +0.15% มูลค่าการซื้อขาย 52,794.94 ล้านบาท โดยมีแรงซื้อหุ้นแบงก์ใหญ่ต่อเนื่อง  สถาบันไทยซื้อหนักมือ 5,022.64 ล้านบาท ส่วนต่างชาติที่ซื้อวันก่อนหน้ากว่า 4,000 ล้านบาท พลิกกลับมาขาย 3,591.20 ล้านบาท และนักลงทุนไทยขายต่อ 1,264 ล้านบาท

ด้านหุ้นน้องใหม่ GABLE เปิดตลาดที่ 7.30 บาท ขึ้นไปสูงสุดแตะระดับ 7.60 บาท ก่อนถูกเทขายลงอย่างต่อเนื่อง ปิดตลาดต่ำสุดที่ 6.00 บาท ลดลง 0.39 บาท หรือ -6.10% จากราคาขาย IPO 6.39 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 2,338.11 ล้านบาท

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นวันนี้แกว่งตัวในกรอบเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่เคลื่อนไหว บวก/ลบราว 0.5% ในช่วงรอดูเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะมีขึ้นในคืนวันพรุ่งนี้ และยังต้องรอดูการเลือกตั้งของไทยในวันอาทิตย์นี้ด้วย

ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงของการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของแต่ละประเทศ หุ้นก็จะเคลื่อนไหวไปตามผลกำไรที่ทยอยออกมาของแต่ละตัวในแต่ละตลาด พร้อมให้ติดตามประเด็นเพดานหนี้สหรัฐ ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ จะพูดในคืนวันนี้ และติดตามประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก จะพูดเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (10 พ.ค.) ตลาดคงจะเแกว่งแคบๆ 0.5% ในช่วง 1,555-1,585 จุด

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจในเดือนเม.ย. 2566 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.09 เพิ่มขึ้น 15.1% จากเดือนก่อนหน้า โดยยังอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” จากกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน  ขณะที่มีเพียงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น 66.7% ที่ระดับ 125.00  อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”

นักลงทุนมองว่าการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือความคาดหวังต่อการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว  ซึ่งดีขึ้นคาดจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3% สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด  รองลงมาคือสถานการณ์การเมืองในช่วงเลือกตั้ง และสถานการณ์เงินเฟ้อ

ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)

” ตลาดทุนต้องการความแน่นอนหลังจากการเลือกตั้งมากกว่าจะสนใจว่าพรรคใดจะเป็นผู้ชนะ หากเลือกตั้งเสร็จแล้วแต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ตลาดจะเกิดความผันผวนจากความกังวลใจของนักลงทุน แต่หากได้รัฐบาลที่มั่นคง มีนโยบายชัดเจน อยากเห็นมาตรการระยะยาวมากขึ้น  เช่นการเพิ่มรายได้ในระยะยาว จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีฐานการผลิตที่ดีขึ้นจากเดิม คิดว่าจะต้องมีการเปลี่ยนอุตสาหกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว การแพทย์ เป็นต้น เชื่อว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปได้ สร้างความเข้มแข็งในระยะต่อไป

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.2566 เงินลงทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดหุ้นหลายแห่งในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสะท้อนการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในอนาคต อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนมี.ค.กลับมาเกินดุลสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยเป็นผลจากทั้งดุลการค้าและการบริการ ทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

“คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวที่ 3.4 % และในปี 2567 จะขยายตัว 3.6 % ส่วนผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วในภาคการเงิน จนเกิดความไม่มั่นใจและทยอยถอนเงินจากธนาคารที่มีสถานะอ่อนแอจนภาครัฐต้องรีบออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลาม สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยมีผลกระทบค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงินดังกล่าวค่อนข้างน้อย”นายศรพลกล่าว

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน เม.ย.66 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปิดที่ 1,529.12 จุด ลดลง 5.0% จากเดือนก่อนหน้า และลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในอาเซียน ขณะที่ผู้ลงทุนสนใจกองทุนหุ้นไทยมากขึ้น (ไม่รวมกองทุนประหยัดภาษี) มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 3 เดือนแรกรวม 3,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลเข้าระดับพันล้านครั้งแรกในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ กองทุน SSF ในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1,100 ล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้ากองทุน Equity Large-Cap มากที่สุด

ขณะเดียวกันมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai เดือนเม.ย.อยู่ที่ 46,811 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 43.1% เฉลี่ย  4 เดือนแรก อยู่ที่ 62,461 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขาย 7,901 ล้านบาทต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 หลังจากซื้อสุทธิ 4 เดือนติดต่อ แต่มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12   Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ อยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 3.14% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.36%

ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในเดือน เม.ย.66 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 402,387 สัญญา ลดลง 40.7% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของทุกตราสาร โดยเฉพาะการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 4 เดือนแรก มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 559,610 สัญญา ลดลง 1.1% จากปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures