HoonSmart.com>>ในปี 66 บล.จำนวน 25 แห่งมีผลงานขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมทั้งสิ้น 4,230 ล้านบาท ส่วนอีก 19 บริษัทมีกำไรเบ็ดเสร็จรวม 6,507 ล้านบาท จากดัชนีหุ้นดิ่งลงแรง -15.15% มูลค่าซื้อขายเฉลี่ย/วันบางลงเหลือเพียง 51,082.48 ล้านบาท หายไป 28.28% ฝีมือต่างชาติถล่มทิ้งยับเยินเฉียด 2 แสนล้านบาท ปี 2567 บล.จะเป็นอย่างไรต้องติดตาม เพียง 5 เดือน หุ้นร่วง 4.96% วอลุ่มบางลง ต่างชาติเทกระจาดต่อ -82,159.62 ล้านบาท แต่ไม่ต้องห่วงก.ล.ต.การันตีสุขภาพบล.ดีทั้งระบบ
เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รายงานผลการดำเนินงานในปี 2566 ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 44 แห่ง สรุปว่ามีบล.จำนวน 25 แห่งขาดทุนเบ็ดเสร็จ รวมทั้งสิ้น 4,230 ล้านบาท นำโดยบล.จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) แย่ที่สุด -762.97 ล้านบาท ตามด้วยบล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ -556.59 ล้านบาท และบล.บียอนด์ – 499.02 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บล.บางบริษัทที่มีผลขาดทุนเบ็ดเสร็จ ขณะที่ธุรกิจหลักทรัพย์ยังมีกำไร เช่น บล.บียอนด์ที่มีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมสูงถึง 812.52 ล้านบาท และบล.แลนด์แอนด์เฮ้าส์มีกำไรสุทธิ 140 ล้านบาท แต่มีขาดทุนจากเงินลงทุนในตราสารทุนที่กำหนดให้วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น 716.56 ล้านบาท
ส่วนบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 19 แห่ง มีกำไรเบ็ดเสร็จรวม 6,506.64 ล้านบาท นำโดยบล.ภัทร ทำได้มากถึง 1,042.53 ล้านบาท รองลงมาคือ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กำไร 870.27 ล้านบาทและบล.บัวหลวง มีกำไรเบ็ดเสร็จ 812.35 ล้านบาท
สาเหตุที่บล.ภัทรมีกำไรเบ็ดเสร็จสูงที่สุด เนื่องจากเป็นโบรกเกอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์มากกว่า 20% และผู้นำด้านอนุพันธ์ แม้มีรายได้ค่านายหน้าจำนวน 1,519.27 ล้านบาท ลดลงประมาณ 30% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,161.57 ล้านบาท แต่มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 248.02 ล้านบาท เทียบกับจำนวน 76.98 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นเป็น 1,560.39 ล้านบาท จากปีก่อนมีจำนวน 1476.47 ล้านบาท ทางด้านค่าใช้จ่ายไม่มีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เทียบกับปี2565 ที่มีจำนวน 708.53 ล้านบาท
แต่ที่น่าสังเกตุว่า บล.ที่มีกำไรเบ็ดเสร็จดีขึ้น มีแม่เป็นบริษัทต่างชาติ เช่น บล.เจพีมอร์แกน(ประเทศไทย) ทำได้ 757.08 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มีจำนวน 446.65 ล้านบาท โดยรายได้ค่านายหน้าทรงตัวระดับ 1,150 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นเป็น 560.83 ล้านบาท เทียบกับจำนวน 269.14 ล้านบาทในปี 2565
แนวโน้มผลดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ในปี 2567 ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางตลาดหุ้นขาลงอย่างต่อเนื่อง รวม 5 เดือนแรก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ร่วงลงต่อ 70 จุดหรือ 4.96% ปิดที่ 1,345.66 จุด นักลงทุนต่างชาติขายหนักรวม -82,159.62 ล้านบาท
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาอย่างหนักหน่วง รวมเฉียด 3 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 31 พ.ค.2567 แต่กลับมีสัดส่วนการซื้อ-ขายมากกว่า 50% สะท้อนถึงการมีกำไรจากการลงทุน ขณะที่นักลงทุนไทยทั่วไป กลับเป็นผู้ซื้อหุ้นสุทธิ 84,041.90 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนการซื้อ-ขายประมาณ 30%
ด้านนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งสามารถดำรงเงินกองทุนได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยส่วนใหญ่ (ประมาณ 98% ของ บล.) สามารถดำรงเงินกองทุนได้มากกว่า 2 เท่าของเกณฑ์ขั้นต่ำ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิเพียงพอชำระหนี้สินทั้งหมดที่มีต่อลูกค้า (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พ.ค. 2567)
ก.ล.ต. ได้มีการกำกับดูแล ติดตามสถานะการดำรงเงินกองทุนของ บล. เป็นรายวัน และกำกับดูแลระบบงานของ บล. ในหลายด้าน การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) บล.ต้องมีการบริหารความเสี่ยง ตั้งแต่การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ให้มาร์จิ้นได้ (marginable securities) กำหนดอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (initial margin) ที่เหมาะสม มีการติดตามระดับมาร์จิ้น (maintenance margin) หากต่ำลงถึงระดับที่กำหนด ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม (call margin) หากต่ำลงไปอีก บล. สามารถบังคับขายหลักประกันได้ (force sell)
ทั้งนี้ อัตรามาร์จิ้นที่ บล. กำหนดต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังติดตามการกระจุกตัวของหุ้นที่ปล่อยมาร์จิ้น สัดส่วนการปล่อยมาร์จิ้นเทียบกับเงินกองทุนของบริษัท เพื่อใช้ในการประเมินความเสี่ยงของ บล. ตลอดจนผลกระทบต่อสภาพตลาด และระบบการซื้อขายโดยรวมด้วย
กรณีที่ลูกค้ามีอัตรามาร์จิ้นต่ำจนใกล้ หรือถึงระดับที่ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม บล. มักมีการเจรจากับลูกค้าเพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกันก่อนที่จะถึงระดับบังคับขายด้วย
ณ วันที่ 27 พ.ค. 2567 บล. มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เฉลี่ยต่อรายที่ 1,520 ล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) เฉลี่ยต่อรายที่ 282% (เกณฑ์ดำรง NCR ขั้นต่ำ 7%) ส่วนสินเชื่อในการซื้อหลักทรัพย์ในปัจจุบัน มีหลักประกันที่ครอบคลุมมูลหนี้สูงถึง 3 เท่า
กรณี บล.จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) นั้น ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์และสื่อสารกับ บล. มาโดยตลอด รวมถึงได้กำชับให้การดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามสัญญาที่มีกับลูกค้า ในลักษณะที่เหมาะสมและเป็นธรรม
หมายเหตุ : เกณฑ์ขั้นต่ำกำหนดให้ บล. ดำรง NC มากกว่า 25 ล้านบาทกรณีประกอบทั้งธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือมากกว่า 15 ล้านบาท กรณีประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างใดอย่างหนึ่ง และกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ดำรง NCR มากกว่า 7% ของหนี้สินทั่วไปและทรัพย์สินที่ลูกค้าวางไว้เป็นประกันเพื่อซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า