5 อันดับกองทุนเงินไหลเข้าสูงสุด Q1/66 กอง “UGIS-N” ครองแชมป์

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เปิด 5 อันดับกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในไตรมาส 1/66 ส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก (Global bond) ผ่านกองหลัก PIMCO GIS Income Fund ด้านกองทุน “UGIS-N” ภายใต้บริหารบลจ.ยูโอบี มีเงินไหลเข้าสูงสุด 3.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 40% ด้านกองทุนต่างประเทศที่เป็นกองทุนฟีดเดอร์ มูลค่าเพิ่มขึ้น 7% เงินเข้าลงทุนกองทุนค่าย “JPMorgan” สูงสุด 12% มูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หลังจากกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก (Global bond) มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดของกลุ่มการลงทุนต่างประเทศที่ไม่รวม term fund มีมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 และนับเป็นเงินไหลเข้าสุทธิในรอบ 2 ปี ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือ 27.2% จากไตรมาสก่อนไปอยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านบาท และส่งผลให้ 5 อันดับกองทุนที่มีมูลค่าเงินไหลเข้าสูงสุดในไตรมาสแรกเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกถึง 4 อันดับแรก โดยมีเพียงกองทุนหุ้นจีนที่ติดอันดับ 5

สำหรับกองทุนที่มีมูลค่าเงินไหลเข้าสูงสุด ได้แก่กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ (UGIS-N) มูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิ 3.2 พันล้านบาท คิดเป็น organic growth กว่า 40% รองลงมากองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มคือ กองทุนเปิดทหารไทย Global Income (TMBGINCOME) มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.9 พันล้านบาท คิดเป็น organic growth ที่ 27.0% และกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลคอลเล็คทีฟสมาร์ทอินคัม (KF-CSINCOM) ที่ 1.6 พันล้านบาท โดยทั้ง 3 กองทุนลงทุนไปยังกองทุนเดียวกันคือ PIMCO GIS Income Fund

สำหรับกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ ฟันด์ (MUBOND-A) ที่มีการเปิดใหม่ในเดือนก.พ. มีเงินเข้าลงทุนกว่า 1.7 พันล้านบาท ซึ่งมีการลงทุนไปยัง JPM US Aggregate Bond Fund

ส่วนกองทุนที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุด ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย Global Quality Growth (TMBGQG) มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุด 1.2 พันล้านบาท ตามมาด้วยกองทุนเปิดเคเคพี NDQ100 – HEDGED ชนิดทั่วไป (KKP NDQ100-H) มีเงินไหลออกสุทธิเกือบแตะระดับพันล้านบาท ซึ่งไตรมาสก่อนหน้ากองทุนนี้เคยมีเงินไหลเข้าสุทธิถึง 2 พันล้านบาท ทั้งนี้อาจเกิดจากแรงขายทำกำไรที่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากองทุนนี้มีผลตอบแทน 18.6%

ขณะที่ภาพรวมกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) ทั้งระบบ ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 หมื่นล้านบาท กองทุนตราสารหนี้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 1.4 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยที่กองทุนตราสารทุนที่มูลค่าไหลเข้าสุทธิต่ำกว่าเล็กน้อย โดยรวมกองทุนกลุ่มหลักมีการเติบโตได้ดีทั้งจากเงินไหลเข้าและผลตอบแทนที่ฟื้นตัว

ปัจจุบันกองทุนต่างประเทศที่เป็นกองทุนฟีดเดอร์มีมูลค่าการลงทุนรวมราว 6.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 7% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยรวมมีการลงทุนไปยังบลจ. JPMorgan มากที่สุดด้วยมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยประมาณ 70% เป็นประเภทกองทุนตราสารทุน กองทุนที่บลจ. ในประเทศไทยไทยนำเงินไปลงทุนมากที่สุดได้แก่ กองทุน JPM China และกองทุน JPM Global Healthcare เป็นต้น ทั้งนี้ในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 5 พันล้านบาท ซึ่งไปยังกองทุนหุ้นจีน กองทุนตราสารหนี้ และกองทุนหุ้นทั่วโลกเป็นหลัก

ขณะที่ BlackRock มีมูลค่าการลงทุนโดยบลจ.ไทยรวมระดับ 5 หมื่นล้านบาท มีสัดส่วนในประเภทกองทุนตราสารทุนราวครึ่งหนึ่ง ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนผสม กองทุนที่บลจ.ไทยไปลงทุนมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ BGF Global Allocation, BGF China และ BGF China Bond เป็นต้น

ด้านบลจ. PIMCO มีมูลค่าการลงทุนรวม 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นกองทุนตราสารหนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมามีมูลค่าเงินไหลเข้าราว 1 หมื่นล้านบาท โดยไปยังกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างกองทุน PIMCO GIS Income ซึ่งในไตรมาสที่ผ่านมามีมูลค่าเงินไหลเข้าไปยังกองทุนนี้ราว 8 พันล้านบาท

อ่านข่าว

เงินเข้ากองทุนรวม 4 หมื่นล. Q1/66 Global Bond เด่นรับดอกเบี้ยสูง