เงินเข้ากองทุนรวม 4 หมื่นล. Q1/66 Global Bond เด่นรับดอกเบี้ยสูง

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยกองทุนรวมไตรมาสแรกปี 66 มูลค่าเพิ่มขึ้น 0.97% แตะ 4.9 ล้านล้านบาท เงินไหลเข้าสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท ชี้ “กองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก” ยอดนิยม เงินไหลเข้าสูงสุดเกือบ 1.4 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมเทอมฟันด์) รับดอกเบี้ยอยู่ระดับสูง หนุนผลตอบแทนจูงใจ คาดแนวโน้มเงินไหลเข้าลงทุนต่อเนื่อง ส่วนหุ้นจีนยังเนื้อหอมเงินไหลเข้า 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมจับตาท่าทีเฟด ส่วนกระแสฟื้น LTF มองเป็นบวกต่อหุ้นไทย หนุนตลาดกลับมาคึกคักได้ รอลุ้นครม.ชุดใหม่

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.97% จากสิ้นปี 2565 หากไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 3.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินจากกองทุนตราสารหนี้และตราสารทุนรวมกันราว 3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งมีเงินไหลเข้ากลุ่ม Miscellaneous ซึ่งเป็นเงินจากกลุ่ม capital protected fix term มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุน money market มีเงินไหลออกสูงสุดในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหนึ่งไตรมาส 2.7 หมื่นล้านบาท

กองทุน Money Market มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 6.4 แสนล้านบาท หรือลดลงเกือบ 4% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากเงินไหลออกต่อเนื่องอีก 2.7 หมื่นล้านบาท กองทุนหุ้นขนาดใหญ่มีมูลค่าทรัพย์สินหดตัวต่อเนื่องอีก 5.8% ไปอยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท โดยในไตรมาสที่ผ่านมานี้มีเงินไหลออกสุทธิ 7.0 พันล้านบาท ทางฝั่งเงินไหลเข้าเป็นมูลค่าการลงทุนในกองทุนต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ทั้งประเภทตราสารหนี้และตราสารทุน

“ไตรมาสแรกปี 2566 มีหลายปัจจัยสำคัญที่กระทบตลาดการลงทุน เช่น ความคาดหวังการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯที่เปลี่ยนไปจากการปรับลดดอกเบี้ยมาให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยในไตรมาสแรกมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 4.75%-5.0% ทั้งยังมีเหตุการณ์ในกลุ่มธนาคารของสหรัฐอย่าง Silicon Valley Bank หรือธนาคารอื่นในกลุ่ม Regional bank ที่ทำให้เกิดความกังวลอยู่ช่วงหนึ่งว่าจะลุกลามไปในวงกว้าง และทำให้ตลาดมีความผันผวนได้ไม่น้อย โดย Morningstar Global Markets Index มีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนม.ค. ก่อนจะเป็นขาลงในช่วงก.พ.ถึงช่วงกลางเดือนมี.ค.และมีผลตอบแทนในรอบ 3 เดือนแรกอยู่ที่ 7.3%” นางสาวชญานี กล่าว

ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงทำให้นักลงทุนมีความสนใจกองทุนหุ้นไทยมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้ โดยกองทุนหุ้นไทยที่ไม่รวมกองทุน LTF, RMF และ SSF มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 3 เดือนแรกรวม 3.3 พันล้านบาท ซึ่งหากมองย้อนกลับไปจะพบว่าเป็นเงินไหลเข้าระดับพันล้านครั้งแรกในรอบ 3 ปี

กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปี 2565 โดยในไตรมาสแรกนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อยที่ 1.3 พันล้านบาท

กองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.0 แสนล้านบาท ลดลง 8.5% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยในปีนี้เงินลงทุนในรอบปี 2560 จะสามารถไถ่ถอนได้ตามเงื่อนไขถือครอง 7 ปีปฏิทิน ทำให้มีเงินไหลออกต้นปีสูงระดับ 1 หมื่นล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท อาจมีสาเหตุจากตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนเป็นลบ (SET TR -2.7%)

กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4.1 แสนล้านบาท ลดลง 1.0% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยประเภทการลงทุนหลักอย่างกองทุนตราสารทุนมีการหดตัวลงเล็กน้อยหรือ -0.3% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมานี้มีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 400 ล้านบาท

กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.4% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 หมื่นล้านบาท กองทุนตราสารหนี้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 1.4 หมื่นล้านบาท กองทุนตราสารหนี้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 1.4 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยที่กองทุนตราสารทุนที่มูลค่าไหลเข้าสุทธิต่ำกว่าเล็กน้อย โดยรวมกองทุนกลุ่มหลักมีการเติบโตได้ดีทั้งจากเงินไหลเข้าและผลตอบแทนที่ฟื้นตัว

การฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนยั่งยืนกองทุนยั่งยืนขึ้นมาอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากสิ้นปีที่แล้ว แต่มีเงินไหลออกสุทธิเล็กน้อยรวมราว 200 ล้านบาท

สำหรับเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนตราสารหนี้ทั่วไป โดยกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 3.9 แสนล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าราว 2.0% โดยมีเงินไหลออกสุทธิ 9 พันล้านบาท หรือไหลออกต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่ 5 เช่นเดียวกับกองทุน Mid/Long-term bond ที่มีเงินไหลออกสุทธิ 3.9 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินลดลง 1.2% จากสิ้นปีที่แล้ว

ด้านกองทุน flexible bond ที่มีการลงทุนตราสารหนี้ในประเทศและต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิมากที่สุดในไตรมาสแรกรวม 3.0 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินจากบลจ.ไทยพาณิชย์เกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยรวมกองทุนกลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินหดตัวลง 10.0% จากไตรมาสก่อนหน้า ลงไปอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท

ขณะที่เงินไหลเข้าเป็นมูลค่าการลงทุนในกองทุนต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ทั้งประเภทตราสารหนี้และตราสารทุน โดยกองทุน Bond fix term มีเงินไหลเข้าสูงสุดต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หรือที่มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินพุ่งขึ้นเกือบ 32% จากสิ้นปีที่แล้ว ขณะที่กลุ่ม capital protected fix term มีเงินไหลเข้าเป็นอันดับ 2 มูลค่า 3.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ที่เปิดใหม่รวม 11 กองทุน

“หากไม่นับรวมกอง term fund พบว่าเงินไหลเข้าสุทธิในกองทุน Global bond กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจากมีเงินไหลออกต่อเนื่องเกือบ 2 ปี จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ผลตอบแทนน่าสนใจและคาดว่าแนวโน้มยังมีเงินไหลเข้ากองทุนต่อเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และคงต้องจับตาท่าทีเฟดเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยต่อ” นางสาวชญานี กล่าว

สำหรับภาพรวมผลตอบแทนในไตรมาสแรกที่ผ่านมากองทุนเทคโนโลยีทั่วโลกผลตอบแทนสูงสุด 18.5% รองลงมากองทุนหุ้นสหรัฐฯ 9.8% กองทุนหุ้นยุโรป 9.7% ส่วนกองทุนหุ้นเวียดนาม 2.2% และกองทุนหุ้นจีน 1.1% ขณะที่กองทุนหุ้นไทยผลตอบแทนติดลบ โดย Equity Large-Cap ติดลบ 3.8% และ Equity Small/Mid-Cap ติดลบ 3.4% และกลุ่มน้ำมันติดลบสูงสุด 5.4% ในช่วงไตรมาสแรก

ส่วนกรณีทีมีกระแสข่าวเรียกร้องให้กองทุน LTF กลับมานั้นมองว่าจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นและคาดว่าจะทำให้ตลาดคึกคักได้ แต่คงต้องอยู่ที่ครม.ชุดใหม่และเงื่อนไขและระยะเวลาลงทุนประกอบด้วย