บล.กสิกรฯคาดหุ้นแกว่ง1,280-1,325 สัปดาห์หน้า รอเฟด-กำไรบจ.

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับที่ 1,290 และ 1,280 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,325 จุด  จากสัปดาห์ที่ผ่านมาปิดเหนือ 1,300 จุดได้ ส่วนค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทยมองเคลื่อนไหวในกรอบ 35.85-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ 

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์ถัดไป (29 ก.ค.-2 ส.ค.2567) มองว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,290 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,315 และ 1,325 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (30-31 ก.ค.) ผลประกอบการไตรมาส 2/2567 ของบจ.ไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนก.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ จีดีพีไตรมาส 2/2567 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ

หุ้นปรับตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์และหลุดแนว 1,300 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายต่อเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์ จากความกังวลเรื่องแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2567 หลังกลุ่มแบงก์ที่เพิ่งรายงานผลประกอบการเสร็จสิ้นไปมีการตั้งสำรองฯ ในระดับที่ค่อนข้างสูง รวมถึงกลุ่มพลังงานหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง นอกจากนี้ ประเด็นการเมืองที่ยังคงต้องติดตามต่อเนื่อง และการปรับตัวลงของหุ้นภูมิภาคตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่รายงานผลประกอบการที่อ่อนแอ ก็เป็นปัจจัยที่กดดันหุ้นไทยในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน โดยกลับมายืนเหนือ 1,300 จุดได้อีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางหุ้นภูมิภาคที่ดีดตัวขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้โดยกระทรวงการคลัง (จาก 2.4% เป็น 2.7%)

ในวันศุกร์ที่ 26 ก.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,307.21 จุด ลดลง 0.75% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 36,084.27 ล้านบาท ลดลง 9.25% ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.56% ปิดที่ระดับ 328.18 จุด

ส่วนค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (29 ก.ค.-2 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ระดับ 35.85-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และยังคงรักษาทิศทางแข็งค่าไว้ได้ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ เนื่องจากมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการแข็งค่าขึ้นของเงินเยน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการคาดการณ์ว่า อาจเห็นธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำการคุมเข้มนโยบายการเงินในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. นี้

ขณะที่ Sentiment เงินดอลลาร์ฯ ตลอดทั้งสัปดาห์ถูกกดดันจากกระแสการคาดการณ์ว่าแม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิมในการประชุมวันที่ 30-31 ก.ค. นี้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC รอบถัดไปในเดือนก.ย.

ในวันศุกร์ที่ 26 ก.ค. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ก.ค. 67)

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 22-26 ก.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทย 20,442 ล้านบาท และ 85.5 ล้านบาท ตามลำดับ