BBL ไตรมาส 3 กำไร 9 พันล. โต 10% หนุน 9 เดือนพุ่ง 11%

แบงก์กรุงเทพ ไตรมาส 3/61 กำไรสุทธิ 9 พันล้านบาท เติบโต 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน หนุน 9 เดือนกำไร 2.7 หมื่นล้านบาท พุ่ง 11% กวาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม กำไรอัตราแลกเปลี่ยน เงินลงทุน ชี้สงครามการค้าปัจจัยเสี่ยง เน้นบริหารงานด้วยความระมัดระวัง

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2561 กำไรสุทธิ 9,029.89 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.73 บาท เพิ่มขึ้น 10.64% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 8,161.31 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.28 บาท ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2561 กำไรสุทธิ 27,228.80 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 14.26 บาท เพิ่มขึ้น 11.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 24,513.02 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 12.84 บาท

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2561 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 92,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.38% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 15.7% จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ กำไรสุทธิจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 42.1%

ณ สิ้นเดือนก.ย.2561 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,021,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากสิ้นปี 2560 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ สินเชื่อลูกค้าบุคคล และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.6% ขณะที่เงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารมีจำนวน 151,515 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนและกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้น

ด้านเงินกองทุน หากนับกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปี 2561 รวมเข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณ 18.3%, 16.7% และ 16.7% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด สำหรับส่วนของเจ้าของส่วนที่เป็นของธนาคาร ณ วันที่ 30 ก.ย.2561 มีจำนวน 404,574 ล้านบาท มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 211.95 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากภาคการส่งออกที่ยังคงเข้มแข็งและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ขยายตัวดีขึ้น แม้จะเผชิญกับความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า แต่การส่งออกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีตลาดส่งออกที่หลากหลาย การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวดีกว่าที่คาด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายรถยนต์ที่เร่งตัวขึ้นและรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งบางส่วนเกิดจากการขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการค้า ตลอดจนผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของโลกยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

อย่างไรก็ตามจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวธนาคารจึงยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน