กูรูชวนช้อนหุ้นถูก แบงก์ใหญ่ยับ ดัชนีโลว์ 5 เดือน

HoonSmart.com>>แรงเชียร์ช้อปปิ้งหุ้นไทยดังขึ้น ธปท.-คลัง-ตลาดหลักทรัพย์-โบรกเกอร์-กองทุนลงมติเอกฉันท์ แบงก์สหรัฐล้มกระทบไทยโดยตรงจำกัด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยันฐานะแบงก์แกร่ง วันนี้ดัชนีเหวี่ยงแรงไล่ขึ้นสูงสุด 1,602 ก่อนทิ้งแรงทรุด 26.58 จุด นิวโลว์ในรอบเกือบ 5 เดือน ตามยุโรปทรุด เอเชียเริ่มฟื้น ฮ่องกงบวก กลุ่มแบงก์นำดิ่งหลังเจอ Sentiment ลบ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) นิวโลว์รอบ 1 ปี ต่างประเทศทิ้งต่อ 2,193 ล้านบาท บล.พายชี้เป้าปีนี้ 1,700 จุด  ค่าย SCB คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% อีก 1-2 ครั้ง สูงสุด 5.25-5.50% แล้วนิ่งถึงปลายปี 66 

นาย ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กรณีที่ธนาคารสหรัฐ 2 แห่งล้มลง และทางการสหรัฐกระโดดเข้าช่วยเหลือ แล้ว เชื่อว่าจะผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงไม่มาก เงินที่มาจากกองทุนร่วมทุน (เวนเจอร์แคป) และคริปโตร มีค่อนข้างน้อย เทียบกับเศรษฐกิจไทย แต่อาจจะมีผลทางอ้อม จากการที่นักลงทุนหรือกองทุนขนาดใหญ่ขายหุ้น  รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้สภาพคล่องหายไปมาก โดยมองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาก เป็นจังหวะที่ดีในการเลือกซื้อลงทุน ขอให้นักลงทุนติดตามข่าวสารและวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี  มีบางธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต เลือกซื้อก่อนที่กำไรไตรมาส 1/2566 จะออกมา เป็นการมองไปข้างหน้า

“ช่วงนี้เป็นอะไรที่สนใจ เมื่อมีความเสี่ยง ความไม่แน่นอนมากขึ้น เป็นโอกาสของการลงทุน หากมองระยะยาว  อย่ามองที่ปลายเหตุ ต้องดูที่ต้นเหตุ แบงก์สหรัฐล้มลง เพราะดอกเบี้ยสูงขึ้น หากเงินเฟ้อลดลง และการขึ้นดอกเบี้ยชะลอ สภาพคล่องที่หายไปจะกลับเข้ามาในตลาด ไทยมีปัจจัยบวกจากการลดลงของโควิด นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา ส่งผลดีต่อกำไรบจ.ที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ส่วนกำไรบจ.ส่งออกยังไม่เปลี่ยนแปลง  แต่มีความเสี่ยงมากๆ  เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะมีผลกระทบต่อสภาพคล่อง จึงอยู่กับไทยไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าธนาคารกลางจะมั่นใจเรื่องเงินเฟ้อ ที่มาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ การจ้างงาน ต้องมอนิเตอร์ให้ดี”นายภากรกล่าวว่า

การปรับพอร์ต ย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงคือหุ้นไปหาที่ปลอดภัย ทำให้การวิ่งไปมาของสภาพคล่องยังคงมีอยู่  เชื่อว่าในที่สุด เงินจะต้องหาแหล่งเงินทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง คือตลาดหุ้นของประเทศกำลังพัฒนา ก็คือไทย มีปัจจัยบวกมาก ดังนั้นจะต้องติดตามให้ดี หากมีการย้ายออกจากพันธบัตร แต่วันนี้การดูเรื่องฟันด์โฟลว์ ไม่ใช่เรื่องง่าย  แต่เชื่อว่าเงินไหลกลับมา แม้ว่าความเสี่ยงยังไม่คลี่คลาย เป็นการมองไปข้างหน้า

ส่วนเงินไหลออกในช่วงก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น นายภากรกล่าวว่า เรื่องการเมืองเป็นคำถามจากนักลงทุนต่างประเทศตลอด  แต่อยากให้ดูความสามารถในการทำธุรกิจว่าขึ้นอยู่กับการเมืองมากแค่ไหน ซึ่งไม่มาก เพราะไทยมีรายได้จากต่างประเทศเฉลี่ย 40-50% ส่วนที่เหลือได้รับผลกระทบจากนโยบายและภาคเศรษฐกิจของประเทศ คือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ ดังนั้น หากรัฐบาลเปลี่ยน นโยบายหลักไม่เปลี่ยนแปลง จึงมีผลกระทบต่อไทยไม่มาก กระทบต่อการทำธุรกิจของบจ.น้อยมาก

นายกวี ชูกิจเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. พาย ( Pi ) กลาวว่า กรณี SVB ประสบปัญหา คล้ายกับวิกฤตเลแมน บราเดอร์ส  แต่ไม่เหมือน ซึ่งครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นที่เกิดจากความไม่มั่นใจ นำไปสู่วิกฤตการเงินสหรัฐ  โดยมองว่า ตลาดหุ้นปรับตัวลงรอบนี้ เป็นการลงครั้งสุดท้าย  ผลกระทบ SVB  ไม่คิดว่าจะส่งผลกับตลาดหุ้นไทย แต่ที่ปรับตัวลง มาจากปัญหาฟันด์โฟล์ของต่างชาติ เชื่อว่าแรงขายเหลือไม่มาก เศรษฐกิจไทย ไม่ได้แย่ และเริ่มฟื้นตัว  เงินทุนสำรองของประเทศ อยู่ระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัด กลับมาเป็นบวก , สถานะการเงินของธนาคาร และบริษัทจดทะเบียน (บจง)  ดีมาก  บริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ไม่มีหนี้

” เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยถึงจุดต่ำสุด ระดับ 1,500 จุดแล้ว หลังจากขึ้นไปแตะเป้าปีนี้ 1,700 จุด ครึ่งปีหลัง 2566 เป็นปีที่เหมาะสะสมหุ้น ซึ่งปี 2567 ตลาดหุ้นไทยจะสดใส จากเศรษฐกิจไทยดีขึ้น การท่องเที่ยวเติบโต การใช้จ่ายภาครัฐ และส่งออกเติบโต หุ้นที่เหมาะสะสม ยังเป็นกลุ่มท่องเที่ยว , ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ ” นายกวี กล่าว

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.จิตตะ เวลธ์  เชื่อผลกระทบปิด SVB อยู่ในวงจำกัด หลังเฟดออกมาตรการดูแลผู้ฝากเงินอย่างรวดเร็ว ลดปัญหาแบงก์รัน อาจกดดันเฟดให้ชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ มั่นใจส่งผลกระทบพอร์ตลงทุนธีมหุ้นสหรัฐฯ เล็กน้อย เหตุมีการกระจายลงทุนในหุ้นกว่า 700 บริษัท แนะนักลงทุนเลือกหุ้นคุณภาพดีและกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ระหว่างรอติดตามความชัดเจนและพัฒนาการของสถานการณ์ในระบบแบงก์ในสหรัฐฯ ท่าทีเชิงนโยบายของเฟดในระยะถัดไป ว่าจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจนไปใกล้ระดับ 6.00% ดังที่ตลาดการเงินทยอยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ได้หรือไม่

“ค่าเงินบาทอาจยังแกว่งตัวในกรอบผันผวน ( นับจากต้นปี 66 ระดับความผันผวนสูงถึง 11-12%) เช่นเดียวกับแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยที่ยังอาจเผชิญความเสี่ยงตามทิศทาต่างประเทศ สวนทางกับทองคำ  ความไม่แน่นอนทำให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบระมัดระวัง และลดท่าทีที่แข็งกร้าวลงมา ก็อาจทำให้เงินบาทผันผวนในกรอบที่แข็งค่าขึ้นได้”

ส่วนผลกระทบโดยตรงต่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เชื่อว่ามีจำกัด เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและมีความเสี่ยงโดยตรงกับธนาคารสหรัฐฯ ทั้ง 2 แห่งดังกล่าวน้อยมาก หรือไม่มีเลย แต่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ต้องติดตามความชัดเจนของประเด็นต่างๆ  อาทิ ผลกระทบจากการบันทึกผลขาดทุนจากการถือครองตราสารหนี้ตามราคาตลาด (Mark-to-Market) ในจังหวะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2565  ขณะที่สถานะของธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคงกว่าในหลายมิติ ทั้งเรื่องสภาพคล่อง และความเข้มแข็งของเงินกองทุน สัดส่วนอยู่ที่ 18.98% สักองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.93%  ส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 15.39% สูงกว่าสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นอยู่ที่ 15.16% สัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.69% และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 12.37%

โครงสร้างสินทรัพย์และเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย มีการกระจุกตัวน้อยกว่าแบงก์สหรัฐฯ  พอร์ตสินเชื่อสุทธิมีสัดส่วน 64% ของสินทรัพย์รวม และเป็นพอร์ตที่มีการกระจายตัวระหว่างสินเชื่อรายใหญ่ เอสเอ็มอี และรายย่อย ในอัตราส่วน 35.8%, 23.5% และ 40.7% ของสินเชื่อทั้งระบบ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ตามลำดับ  สามารถสร้างกระแสรายรับที่มีความต่อเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อ และบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง

วันที่ 13 มี.ค.2566 หุ้นไทยร่วงตามตลาดต่างประเทศ ดัชนีปิดที่ระดับ 1,573.07 จุด ลดลง 26.58 จุด หรือ -1.66% มูลค่าซื้อขาย 79,662.39 ล้านบาท ดัชนีปิดทำ New Low ในรอบเกือบ 5 เดือนจากจุดต่ำสุดเดิมที่ 1,571 จุดเมื่อวันที่ 17 ต.ค.65 ด้านนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,193 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนไทยซื้อ 3,502.71 ล้านบาท

น.ส.ชุติกาญจน์ สันติเมธวิรุฬ ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นปรับตัวลงจนดัชนีฯทำ New Low ในรอบ 4 เดือนกว่า รับ Sentiment ลบจากธนาคาร SVB ล้ม แม้เฟดจะออกมาคุ้มครองผู้ฝากเงินใน SVB แล้ว แต่เมื่อมีแบงก์อื่นปิดอีก  สร้างความกังวลอยู่เหมือนกัน และกดดันหุ้นในกลุ่มธนาคาร ซึ่งไม่เพียงแต่ธนาคารในไทยเท่านั้น ธนาคารทั่วโลกต่างก็ปรับตัวลงเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี  มองว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมรอบนี้ ลดแรงกดดันเ ส่งผลให้ตลาดในเอเชียสามารถขึ้นมาได้ระหว่างวัน แต่พอตลาดในยุโรปเปิดเทรดบ่ายนี้ปรับตัวลงอีกก็เลยพากันปรับตัวลงไป โดยยังต้องติดตามสถานการณ์ธนาคารในสหรัฐต่อไปว่าจะมีอะไรอีกไหม

“ธนาคารไทยรับแรงกดดันในเชิง Sentiment แต่ในทางปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับฝั่งสหรัฐ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และไม่ได้ปล่อยกู้ให้กับพวกสตาร์ทอัพ จะมีก็แค่เข้าไปลงทุนเอง”

นอกจากนี้ Fund Flow ยังไหลออก กดดันหุ้นขนาดใหญ่ พร้อมให้ติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะออกมาในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค.) ตลาดคาดจะชะลอ YoY และทรงตัว MoM ส่วนในประเทศให้ติดตามความคืบหน้าการเลือกตั้ง

ส่วนแนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค.) ตลาดมีโอกาสเด้งขึ้นมาหลังปรับตัวลงไปมาก โดยมีแนวรับ 1,580-1,575 จุด แนวต้าน 1,595-1,600 จุด