HoonSmart.com>>แบงก์ชาติคาดธนาคารสหรัฐล้ม ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยจำกัด ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ทำธุรกรรมโดยตรงกับ SVB ลงทุนในฟินเทค-สตาร์ทอัพโลกไม่ถึง 1% ของเงินกองทุน ส่วนค่าเงินบาทแข็งตามภูมิภาค ด้าน SCB CIO คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยมี.ค.เพียง 0.25% มอง 2 ทางเลือก 1.รัฐคุมสถานการณ์ได้ ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง สูงสุด 5.25%-5.5% คงไว้จนถึงปลายปี 2566 2. อาจปรับขึ้นถึง 5.75-6% หยุดขึ้นไตรมาส 2 ลดในครึ่งปีหลัง กลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีแรกเป็นจังหวะที่ทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ชี้แจงว่ากรณีธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ที่ประสบปัญหา จากข้อมูลในตลาดการเงินโลก ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารโดยรวมปรับลดลงและราคาในการประกันความเสี่ยงปรับเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อการลุกลามไปยังธนาคารอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเทคโนโลยีและคริปโทเคอร์เรนซี อย่างไรก็ดี การที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศจะจ่ายคืนผู้ฝากทุกรายเต็มจำนวน และจัดตั้ง Bank Term Funding Program เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้แก่ระบบธนาคาร น่าจะช่วยลดโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามจนส่งผลอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
สำหรับสถานการณ์ในไทย ผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 % ของเงินกองทุน ที่สำคัญพบว่า ธพ. ไทยไม่มีการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ขณะที่กลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับต่ำที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่ง ธปท. ขอย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ venture capital ที่เข้มงวด เช่น การให้หักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ในทุกกรณี รวมทั้งกำหนดเพดานการลงทุนและการกำกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม ธพ. ต่อเงินฝากของประชาชน
ด้านค่าเงินบาท ล่าสุดปรับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ภายหลังนักลงทุนคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ข้างต้นจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับอ่อนค่าลงเร็ว ซึ่งความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินสหรัฐฯ จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดการเงินโลกและความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะถัดไป
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ประเมินในเบื้องต้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง โดยอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะสั้น แต่ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือระบบการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ และประเทศไทยมีระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับสถานการณ์ที่มีความผันผวน ประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยแต่อย่างใด
นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรณี SVB ถูกทางการสั่งปิดกิจการนั้น เป็นปัญหาเฉพาะตัวที่เกิดจากโครงสร้างฐานลูกค้าที่มีการกระจุกตัว อยู่ในกลุ่มธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Startup รวมทั้งมีการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินที่ผิดพลาด ในช่วงดอกเบี้ยต่ำ SVB ได้นำเงินฝากกว่า 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ที่มีอยู่ 2.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนระยะยาว เมื่อต้องเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรง ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเหล่านี้เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายถึงราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จึงทำให้มูลค่าการลงทุนลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นผลขาดทุนที่ต้องรับรู้ค่อนข้างมาก และกระทบฐานทุน ยิ่งมีการแห่ถอนเงินฝาก ก็ทำให้ SVB ต้องขายพันธบัตรเหล่านี้ออกมา ธนาคารจึงขาดทุนส่วนนี้มากขึ้น จนส่งผลให้อัตราส่วนทุนของธนาคารไม่เพียงพอตามเกณฑ์ของทางการสหรัฐฯ และถูกทางการสั่งหยุดดำเนินกิจการในที่สุด
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ประเด็นปัญหาของ SVB จะลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตการเงินการธนาคารทั้งระบบ คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในปี 2551 ยังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากปัญหาที่เกิดเป็นปัญหาเฉพาะตัวของธนาคารที่มีเงินฝากเติบโตรวดเร็วแต่ฐานกระจุกตัว และมีการนำเงินฝากส่วนใหญ่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่ แต่ราคาลดลงเมื่อในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แทนที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อ ซึ่งถ้าเป็นดอกเบี้ยลอยตัว อย่างน้อยรายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา Fed ได้จัดตั้ง 2 เครื่องมือหลักได้แก่ Systematic Risk Exception (SRE) และ Bank Term Funding Program (BTFP) เพื่อเข้ามาจัดการเงินฝากของลูกค้าของ SVB และธนาคารที่ถูกปิดอีกแห่งคือ Signature Bank (ในส่วนที่เกินกว่า 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองเงินฝาก) รวมถึงดูแลปัญหาสภาพคล่องที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ
ทั้ง 2 เครื่องมือ นอกจากจะจัดการกับปัญหาเงินฝากของธนาคารที่มีปัญหาเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ฝากเงินทุกคนจะสามารถถอนเงินได้ หรือในกรณีธนาคารที่ถูกสั่งปิด (เช่น SVB และอีกธนาคารคือ Signature Bank ได้เงินคืนอย่างรวดเร็ว) จะยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินในสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาแห่ถอนเงิน (Bank run) ตามมา โดยธนาคารที่เริ่มมีประเด็นสภาพคล่องแทนที่จะเอาพันธบัตรหรือ MBS หรือหลักทรัพย์อื่นๆ ออกไปขายขาดทุนในตลาด สามารถนำเอามาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมสภาพคล่องเป็นเวลา 1 ปี เพื่อจะเอาเงินไปให้ผู้ฝากเงินที่ต้องการถอนเงินคืน
สำหรับมุมมองดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ SCB CIO เชื่อว่าเฟดจะนำประเด็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นในระบบการเงินแม้จะมีการอุดรอยร้าวนี้ทัน มาเป็นปัจจัยที่ใช้ตัดสินใจในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. โดย Fed fund futures และตลาดพันธบัตร บ่งชี้ว่า ตลาดเริ่มประเมินว่า โอกาสที่เฟดจะกลับไปขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรงเริ่มมีน้อยลง จึงยังคงมุมมองขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือน มี.ค. สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อๆ ไป วิเคราะห์เป็น 2 กรณี คือ
1) Base Case (โอกาส 80%) : มาตรการ SRE และ BTFP เข้ามาจัดการปัญหาสภาพคล่องสถาบันการเงินอย่างทันท่วงที ทำให้เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 1-2 ครั้ง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal rate) จะอยู่ที่ 5.25%-5.5% และคงดอกเบี้ยไว้ระดับนี้จนถึงปลายปี 2566
2) Worse case (โอกาส 20%) :เฟดให้น้ำหนักกับเสถียรภาพระบบการเงินและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่ยังห่วงเงินเฟ้อที่ลงช้า อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจน Terminal rate อยู่ที่ 5.75-6% แต่ในกรณีนี้เชื่อว่ามีโอกาสที่เฟดอาจจะต้องลดดอกเบี้ยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
กลยุทธ์การลงทุน คือ การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงยังคงต้องติดตามว่ามาตรการ SRE และ BTFP จะมีประสิทธิภาพในการจัดการเรื่องสภาพคล่องของภาคธนาคารมากน้อยและรวดเร็วแค่ไหน อย่างไรก็ดี SCB CIO มองว่า จากแนวโน้มนโยบายของ Fed ที่น่าจะเริ่มเห็นการหยุดขึ้นดอกเบี้ยภายในไตรมาสที่ 2 นี้ บวกกับแรงขายพันธบัตรจากสถาบันการเงินที่มีก่อนหน้าเริ่มชะลอลง หลังจากเฟดน่าจะเริ่มเข้าไปจัดการกับปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินที่มีปัญหา ดังนั้นยังเชื่อว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เป็นจังหวะที่ทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง