เปรียบเทียบชัดๆ “Thailand Future Fund” กับทางเลือกอื่น (ที่ใกล้เคียงกัน)

วันที่ 12 ต.ค. 2561 วันแรกของการเปิดจองซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF) ที่เสนอขายแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)

ถ้าตั้งใจแน่วแน่และพอใจกับผลตอบแทนประมาณ 4% ต่อปี เดินไปจองซื้อได้เลย

เพราะแม้ว่า 4% จะไม่ใช่อัตราที่สูงมากนัก แต่ถ้าชอบ “ความสม่ำเสมอ” ของผลตอบแทน และโอกาสเพิ่มขึ้นในนอนาคต ทั้งจากจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น อัตราค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐในโครงการอื่นๆ

แต้ถ้ายังลังเลก็ไม่ต้องรีบตัดสินใจ เพราะยังมีเวลาถึงวันที่ 19 ต.ค. 2561

เพราะการจองซื้อ TFFIF ไม่ได้ใช้วิธี “มาก่อนได้ก่อน” แต่จะเป็นการจัดสรรแบบ Small Lot First ทำให้ทุกคนมีสิทธิได้รับการจัดสรร (ถ้าเอกสารครบ จ่ายเงินในเวลาที่กำหนด) แต่จะได้ครบตามจำนวนที่ต้องการหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับยอดจองทั้งหมด ซึ่งจะรู้ผลวันที่ 22 ต.ค. 2561

ระหว่างนี้มาลองเปรียบเทียบกับ “ทางเลือกอื่นๆ” (รายละเอียดในกราฟฟิกประกอบ) แต่ต้องบอกก่อนว่าทางเลือกที่เห็นเป็นแค่ตัวอย่างของ “ทางเลือกอื่น” ที่มีขายอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดเป็นตราสารหนี้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งรัฐบาลและเอกชน ทั้งลงทุนผ่านกองทุนรวมและลงทุนตรง

สาเหตุที่ต้องนำ TFFIF มาเปรียบเทียบกับตราสารหนี้ เพราะมีรูปแบบการให้ผลตอบแทนที่คล้ายกัน มีความสม่ำเสมอในการจ่ายผลตอบแทนพอๆ กัน แต่ถ้าเป็นตราสารหนี้ที่อายุสั้นกว่าจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุยาวกว่า

และถ้าเทียบกับทางเลือกอื่นๆ (ที่มีระดับความเสี่ยงไม่สูงนัก) ซึ่งเสนอขายในช่วงนี้แล้ว “Thailand Future Fund” ก็ “ชนะเลิศ”

อย่างไรก็ตาม หากจะนำ “Thailand Future Fund” ไปเปรียบเทียบกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ “อินฟราฟันด์” กองทุนอื่นๆ ที่มีขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเห็นว่า ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้ในปีแรกที่ 4.75 – 5.30% เป็นผลตอบแทนระดับกลางๆ ออกจะ “ค่อนไปทางท้ายตาราง”

นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ “Thailand Future Fund” เป็นม้านอกสายตาของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)

“เรามองว่า TFFIF เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ เนื่องจากสินทรัพย์มีการเติบโตไม่สูง และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าแค่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวและเงินฝาก แต่หากเปรียบเทียบกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองทุนอื่นถือว่าผลตอบแทนต่ำกว่า”

นอกจากนี้ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ยังแนะนำว่า ถ้าเป็น “อินฟราฟันด์” พวกเขาชอบกองทุนที่สามารถเติบโตและกระจายความเสี่ยงได้ดี ค่าเช่าเติบโต การเข้าใช้พื้นที่และการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอ เช่น CPNREIT, BTSGIF และ DIF

ขณะที่ ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือ “หมอนัท คลินิคกองทุน” แนะนำว่า สามารถลงทุน TFFIF เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตอินฟราฟันด์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการถือสินทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้น แต่ไม่ควรทุ่มเงินทั้งหมดลงไป

“กองทุน TFFIF มีรายได้สม่ำเสมอ รูปแบบรายได้คล้ายกับโรงไฟฟ้า เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่จะให้ผลตอบแทนต่ำ แต่อาจจะดีกว่าตราสารหนี้ เพราะในอนาคตการลงทุนตราสารหนี้จะเสียภาษี แต่ปันผลจากอินฟราฟันด์ได้รับยกเว้นภาษี (สำหรับ TFFIF จะยกเว้นภาษีไปอีก 8 ปี)” ธนัฐ กล่าว

เช่นเดียวกับ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร เทรเชอริสต์ ที่ให้ความเห็นว่า TFFIF มีสินทรัพย์ที่มั่นคง แต่ให้ผลตอบแทนไม่สูง และรายได้กองทุนที่มาจากค่าทางด่วนทั้งสองสายก็เพิ่มขึ้นช้าๆ อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ “ลงทุนไว้บ้าง”

“แต่ไม่ควรทุ่มลงไปตัวเดียวเป็นสัดส่วนเยอะ ยังมีอินฟราฟันด์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์อีกหลายกองให้กระจายเงินไปลงทุน ซึ่งการกระจายเงินลงทุนออกไป จะช่วยลดความเสี่ยงเชิงกายภาพจากสินทรัพย์ที่ลงทุน (ไฟไหม้ น้ำท่วม ตึกถล่ม ฯลฯ) และช่วยเพิ่มความเสถียรให้กับระดับรายได้รวมของพอร์ต” ศกุนพัฒน์ ระบุ

หลังจากเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ และอินฟราฟันด์ด้วยกันแล้ว ตัดสินใจจะลงทุนกับ TFFIF ก็เดินไปจองซื้อได้ที่
1. ธนาคารกรุงไทย
2. ธนาคารกรุงเทพ (ยกเว้นสาขาไมโคร)
3. บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า
4. บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร (เฉพาะลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร เท่านั้น)
5. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย
6. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี

อ่านประกอบ

กองทุน TFFIF ไอพีโอ 12-19 ต.ค. คาดปีแรกจ่าย 4.75-5.30%