HoonSmart.com>>สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดปี 66 ธุรกิจออกหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้าน จากรีไฟแนนซ์ครบอายุ 7 แสนล้านต้องการเงินทุนรับมือเศรษฐกิจโต เปิดผลงานสุดหรูปี 65 หุ้นกู้ทุกประเภทโต ระยะยาวทำยอดสูงสุดใหม่ที่ 1.27 ล้านล้านบาท ESG เพิ่ม คงค้างตลาดตราสารหนี้สิ้นปี 15.78 ล้านล้าน เพิ่มความสมดุลตลาดการเงินไทย การขายผ่านดิจิทัล เพิ่มรายย่อย เม็ดเงินต่างชาติซื้อสุทธิ 4.6 หมื่นล้านคาดไหลเข้าต่อ มีผลต่อค่าเงินบาท ผลสำรวจดอกเบี้ยปรับขึ้น 2-3 ครั้ง บอนด์ยีลด์เพิ่ม หุ้นกู้มีปัญหา 9 หมื่นล้านกระจุกที่ THAI มองเป็นธรรมชาติเหมือน NPLs
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดแนวโน้มในปี 2566 ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน 7 แสนล้านบาท และภาคเอกชนมีความต้องการในการระดมทุนยังมีอย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 ที่มีการออกหุ้นกู้ระยะยาวทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) ที่ 1.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% มีผู้ออกหุ้นกู้ระยะยาวรายใหม่ (Newcomer) เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ 30 บริษัท จาก 15 หมวดธุรกิจ
ทั้งนี้ มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 15.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จากปี 2564 มาจากตราสารหนี้ภาครัฐและหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตรา 14% และ 9% ทำให้มีมูลค่าคงค้างที่ 7.77 ล้านล้านบาท และ 4.57 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้มูลค่าคงค้างพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น 887,691 ล้านบาท คิดเป็น 13% และมูลค่าคงค้างพันธบัตรธปท.ลดลง 494,399 ล้านบาท หรือ 17% ซึ่งการขยายตัวของตลาดตราสารหนี้ ทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้น ระหว่าง 3 เสาหลักของตลาดการเงินไทย เทียบกับตลาดหุ้นและสินเชื่อในระบบธนาคาร ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐ
ในปี 2565 นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิในช่วง 2 เดือนแรก จำนวน 122,254 ล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น 2.1% และตั้งแต่เดือนมี.ค.-ต.ค. ขายสุทธิ 174,857 ล้านบาท กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนถึง 14.2% ส่วนสองเดือนสุดท้าย(พ.ย.-ธ.ค.) กลับมาซื้อสุทธิ 99,214 ล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า 9.7% โดยรวมทั้งปีผ่านมาค่าเงินบาทอ่อน 4.1% ต่างชาติมีการซื้อสุทธิ 46,611 ล้านบาท ยอดการถือครอง 1.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.8% ของมูลค่าคงค้าง อายุคงเหลือเฉลี่ย 7.96 ปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน(บอนด์ยีลด์) อายุ 5 ปีของผู้ออกหุ้นกู้ทุกอันดับเครดิตสูงขึ้นเฉลี่ย 0.59% ณ สิ้นปี เรทติ้ง AAA ขยับขึ้นมาที่ 2.72% AA ที่ 3.07% A ที่ 3.25% BBB+ ที่ 4.31% และ BBB ที่ 5.03%
ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yieldcurve) ปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุในปี 2565 ตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของเฟด และไทย ทั้งปีมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง รวม 0.75% มาอยู่ที่ 1.25% ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.97% จากสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 1.63% ส่วน10 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.74% มาอยู่ที่ 2.64%
“แนวโน้มในปี 2566 ปัจจัยบวกในประเทศจะดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยังมีเงินเข้ามามาก เป็นการลงทุนตามปกติ ไม่ใช่เป็นเงินร้อนเพื่อเข้ามาเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน”ดร.สมจินต์กล่าว
นอกจากนี้มีการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของผู้ร่วมตลาดคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นจาก 4.5% ไปที่ 5-5.25% ในปี 2566 และลดลงเหลือ 4.25% ในปี 2567 ส่วนกนง.จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ประมาณ 2-3 ครั้ง สู่ระดับ 1.75-2.00% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร รุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ตลาดมีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.2-0.3%
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่าในปี 2565 ตลาดตราสารหนี้มีการเติบโตที่โด่ดเด่น เห็นได้จากพัฒนาการ 5 ด้านที่สำคัญ คือ 1.การออกหุ้นกู้ระยะยาวทำสถิติสูงสุดใหม่ทะลุ 1 ล้านล้านบาทนับเป็นปีที่สาม 2.การเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน หรือ ESG Bonds เพิ่มขึ้น 21% มูลค่าการออกรวม 210,994 ล้านบาท ทำให้มูลค่าคงค้าง 501,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 66% จากสิ้นปี 2564 3.การเสนอขายหุ้นกู้ดิจิทัล (Digital Bond) บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง รวม 11 รุ่นจากผู้ออก 8 ราย มูลค่ารวม 29,074 ล้านบาท 4.มีบริษัทหลักทรัพย์ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจตราสารหนี้ (New Players) จำนวน 5 บริษัท และ 5.โมบายแอปพลิเคชัน MeBond ที่พัฒนาโดย ThaiBMA ได้รับความนิยมจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มียอดดาวน์โหลดทะลุ 35,000 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 23,000 ดาวน์โหลดจากปี 2564
“การเสนอขายผ่านดิจิทัล ทำให้รายย่อยเข้ามาเล่นในตลาดหุ้นกู้มากขึ้น เริ่มต้นเพียง 1,000 บาทก็ได้ จากเดิมที่ซื้อไม่ทันนักลงทุนรายใหญ่ โครงสร้างผู้เล่นในตลาด เป็นบุคคลธรรมดาประมาณ 30% สหกรณ์ออมทรัพย์ 10% และบริษัทประกัน 10%
ส่วนหุ้นกู้ที่มีปัญหา มีมูลค่า 99,420 ล้านบาท เท่ากับ 2.18% ของตราสารหนี้เอกชนคงค้าง ณสิ้นปีที่ผ่านมา หากไม่รวมของบริษัทการบินไทย(THAI) มูลค่า 71,608 ล้านบาท ที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ คงเหลือสัดส่วนเพียง 0.6% บริษัทที่มีปัญหามีการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ภาคท่องเที่ยวและโรงแรม ส่วนอสังหาริมทรัพย์ รายได้และกำไรเริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่มีปัญหามีโอกาสเกิดขึ้น ถือเป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับ NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งนักลงทุนมีความรู้ และเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่ดีมากขึ้น เชื่อว่า ปัญหาที่เกิดจาก บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) ผิดนัดชำระดอกเบี้ย จะเกิดขึ้นเพียงบริษัทเดียว ไม่ลุกลามไปทั่วธุรกิจอสังหาริมทรัพย์