HoonSmart.com>> แบงก์ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย-ทีเอ็มบีธนชาต ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ฟิทช์คาดบริษัทประกันชีวิตได้รับผลประโยชน์ แต่เผชิญภาวะเงินเฟ้อสูง เสี่ยงลูกค้าไม่ต่ออายุกรมธรรม์เดิม-เปลี่ยนซื้อกรมธรรม์ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เผชิญกับความท้าทายในการเติบโตของธุรกิจใหม่
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุด 0.45% ต่อปี เป็นอยู่ระหว่าง 0.25% – 1.40% ต่อปี และปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 0.125% – 0.25% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.995% เป็น 6.120% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.500% เป็น 5.750% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.095% เป็น 6.345% ต่อปี ทั้งนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 2565 เป็นต้นไป
ด้านนายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับเพิ่มดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ MLR และ MOR 0.25% เป็น 5.97%เป็น 6.34% ตามลำดับ ขณะที่ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย MRR เพียง 0.13% เป็น 6.10%
นอกจากนี้ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.10%-0.40% เพื่อเพิ่มกำลังซื้อ และเสริมสร้างเงินออมให้มั่นคงในภาวะที่ภาระค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2565 เป็นต้นไป
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีธนชาตต้องการสนับสนุนกลุ่มลูกค้าเงินฝากที่มองหาผลตอบแทนมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูง และเพื่อเก็บออมสำหรับอนาคต ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาจึงได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย บัญชีเงินฝากดิจิทัล ทีทีบี มีเซฟ 0.60% โดยลูกค้าจะได้รับดอกเบี้ยรวมโบนัสสูงถึง 1.70% ต่อปี สำหรับยอดเงินฝากตั้งแต่บาทแรก ถึง 100,000 บาท และ 1.40% สำหรับยอดเงินฝากมากกว่า 100,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท ซึ่งดอกเบี้ยโบนัสจะได้รับเมื่อยอดฝากเข้าบัญชีมากกว่ายอดถอนออกในแต่ละเดือน ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลให้บัญชี ทีทีบี มีเซฟ มีผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าบัญชีเงินฝากดิจิทัลอื่น ๆ ในตลาดปัจจุบัน ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเงินฝากที่เริ่มเก็บออมเงิน
ขณะเดียวกันธนาคารจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ทั้ง MRR,MLRและ MOR โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
“ทีเอ็มบีธนชาตมีความเข้าใจและห่วงใยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อลูกค้ากับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จึงได้ใช้แนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อช่วยให้ลูกค้ายังคงมีสภาพคล่องในการใช้ชีวิต และจะยังคงติดตามสัญญาณเศรษฐกิจ และข้อมูลอย่างรอบด้านในการประเมินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะเป็นการส่งเสริมให้คนไทยมีทางเลือกในการออมมากยิ่งขึ้น ตอกย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารที่ต้องการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งในวันนี้ และอนาคต” นายปิติ กล่าวสรุป
บริษัทฟิทช์เรทติ้งส์คาดว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้บริษัทประกันชีวิตได้รับผลประโยชน์ แต่น่าจะเป็นระดับที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจประกันชีวิตอื่นในภูมิภาคในเอเซีย นอกจากนี้บริษัทประกันชีวิตไทยอาจจะได้รับผลกระทบด้านรายได้ในระยะสั้นจากสภาพตลาดที่มีความผันผวน แต่น่าจะยังคงมีระดับเงินกองทุนที่อยู่ระดับบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันอาจจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของผู้ถือกรมธรรม์ที่ไม่ต่ออายุกรมธรรม์เดิม และเปลี่ยนมาซื้อกรมธรรม์ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ความเสี่ยงของการขาดการต่ออายุในกรมธรรม์ของผู้ถือเดิม เพื่อทดแทนด้วยกรมธรรม์ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า อีกทั้งบริษัทประกันชีวิตในประเทศยังอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการเติบโตของธุรกิจใหม่
ฟิทช์ เชื่อว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสเป็นปัจจัยเร่งผลักดันให้บริษัทประกันชีวิตมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ (digitalisation) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของผู้บริโภค เพื่อบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อรักษาความสามารถในแข่งขันได้ในตลาด อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนและธนาคาร จะยังเป็นช่องทางหลัก โดยการขยายช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางดิจิทัลจะเพิ่มความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วย คาดว่าผลกระทบของนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจต่ออันดับเครดิตของบริษัทประกันภัยจะอยู่ในระดับที่ต่ำถึงปานกลาง
ฟิทช์คาดว่า สัดส่วนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยให้มีโอกาสเติบโตในส่วนของธุรกิจประกันสุขภาพ และบริษัทประกันชีวิตน่าจะมีการบริหารจัดการกำไรของการรับประกันภัยผ่านวิธีการป้องกันความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสการเรียกค่าสินไหมที่สูงขึ้น นอกจากนี้มาตราการการกำกับธุรกิจประกันภัยที่ผ่านมาค่อนข้างเอื้ยอำนวยให้บริษัทประกันชีวิตสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดและภาวะเศรษฐกิจได้ ตัวอย่างเช่น การปรับปรุงระเบียบให้สามารถจัดจำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัลได้ และการเพิ่มทางเลือกในด้านการลงทุนเพื่อบริหารผลตอบแทนจากการลงทุน