วิจัยกสิกรฯ มองคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยกระทบตลาอสังหาฯ ปี62

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธปท.ออกมาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2562 มองมุมบวกช่วยป้องกันความเสี่ยงความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในภาคอสังหาฯ ช่วยตลาดเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมที่จะออกมาตรการเชิงคุณภาพมากำกับดูแลความเสี่ยงที่เกิดจากพฤติกรรมแสวงหากำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นที่คาดการณ์ว่า มาตรการดังกล่าวน่าจะเป็นมาตรการกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป หรือมาตรการกำกับดูแลที่เฉพาะเจาะจงอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้อย่างแท้จริง

“มาตรการดังกล่าว คงจะส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแง่ที่การทำการตลาดและการเปิดขายโครงการที่อยู่อาศัยใหม่คงจะเกิดขึ้นในลักษณะที่รอบคอบระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดยังมีจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในระดับสูง อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีความท้าทายจากภาวะต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศด้วย” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจังหวะเวลาของการบังคับใช้มาตรการเชิงคุณภาพของ ธปท. น่าจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายปี 2561 หรือต้นปี 2562 ดังนั้น ผลกระทบต่อกิจกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี 2561 นี้ จึงคาดว่าจะมีจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอาจจะจบปี 2561 ที่ราว 190,000 หน่วย ซึ่งเป็นระดับที่สูงใกล้เคียงกับในปี 2560 ในขณะเดียวกัน ก็ประเมินว่า ภาพรวมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงินในปี 2561 อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 6.3-6.8) จากที่เติบโตร้อยละ 6.1 ในปี 2560 โดยเป็นการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน ประมาณร้อยละ 5.7 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ (สูงขึ้นจากที่เติบโตร้อยละ 5.5 และร้อยละ 7.0 ในปี 2560 ที่ผ่านมา)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการเชิงคุณภาพของ ธปท. จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนมากขึ้นในปี 2562 ในขณะที่ แนวโน้มการปรับตัวของกิจกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ คงจะยังขึ้นอยู่กับเส้นทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ และขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการในช่วงปีหน้าด้วย

ในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลจากมาตรการเชิงคุณภาพดังกล่าว ประกอบกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดว่าในปี 2562 จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลอาจจะมีโอกาสปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 179,000 หน่วย ในขณะที่ คาดว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินอาจจะขยายตัวในกรอบไม่เกินร้อยละ 6.0 โดยสถาบันการเงินคงจะยังต้องให้น้ำหนักกับนโยบายเครดิตที่ระมัดระวัง ท่ามกลางสถานการณ์หนี้ด้อยคุณภาพที่อาจยังไม่ปรับลดลงโดยง่ายจากปี 2561

“การออกมาตรการเชิงคุณภาพของ ธปท.ดังกล่าว นับเป็นแนวทางที่ดี อันจะช่วยให้การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงข้างหน้าเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และมีมาตรฐานที่รัดกุมมากขึ้น บนความคาดหวังที่จะช่วยยับยั้งความเสี่ยงจากความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการสะสมภาวะความไม่สมดุลที่มากขึ้นระหว่างอุปสงค์และอุปทานในภาคอสังหาริมทรัพย์” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ขณะที่หากประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในรอบนี้ เปรียบเทียบกับสถานการณ์เมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 พบว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก ที่สำคัญคือ ฐานะทางการเงินของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งครองส่วนแบ่งราวร้อยละ 60-70 ของตลาดที่อยู่อาศัยรวม ถือว่ามีความยืดหยุ่นหรือมีความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจได้ในเกณฑ์ที่ดี สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด (SET และ mai)

ในอีกด้านหนึ่ง เกณฑ์การพิจารณาและอนุมัติเงินให้สินเชื่อกับลูกค้า ตลอดจนกลไกการบริหารจัดการความเสี่ยงเครดิตของระบบสถาบันการเงินไทยในปัจจุบันก็มีความรัดกุมและมีการยกระดับขึ้นมาอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้นแล้วจึงเชื่อว่า การส่งสัญญาณเตือนและการออกมาตรการมากำกับดูแลตลาดอสังหาริมทรัพย์ในครั้งนี้ของ ธปท. ในที่สุดแล้วจะทำให้การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยของไทยเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น