แนะผู้ลงทุน SSF/RMF แจ้งลดภาษีตามเกณฑ์ใหม่สรรพากร ไม่แจ้งไม่ได้สิทธิ

HoonSmart.com>> HoonSmart.com>> “สมาคมบริษัทจัดการลงทุน” แนะผู้ลงทุนใน SSF/RMF เตรียมพร้อม!! แจ้งความประสงค์ลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์ใหม่กรมสรรพากร เริ่มใช้ปี 65 นี้ ให้นักลงทุนแจ้งบลจ.ที่ซื้อกองทุนเพียง 1 ครั้ง ภายในวันทำการสุดท้ายของรอบปีภาษี (ปีที่ซื้อ) บลจ.จะนำข้อมูลส่งต่อสรรพากร นักลงทุนไม่ต้องยื่นเอกสารตอนคำนวณภาษีแบบเดิม พร้อมเตือน!! กรณีไม่แจ้งความประสงค์ไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษี

ตามที่กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายใหม่ 2 ฉบับคือ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 414 และ 415) กำหนดให้บุคคลที่ซื้อกอง SSF /RMF ตั้งแต่ปี 2565 ที่จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีมีหน้าที่ต้อง “แจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี” กับทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (“บลจ.”) และให้บลจ. นำส่งข้อมูลโดยตรงแก่กรมสรรพากร โดยกรมสรรพากรจะยอมรับหลักฐานการซื้อหน่วยลงทุนจาก บลจ. โดยตรงเท่านั้น ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการขอลดหย่อนภาษีเงินได้จากรูปแบบเดิมๆที่เคยปฎิบัติกันมา นั้น

นางสาวดวงกมล พิศาล เลขาธิการ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากรได้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการขอลดหย่อนภาษีเงินได้จากรูปแบบวิธีการเดิมที่ผู้ซื้อกอง SSF /RMF สามารถใช้หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนที่บลจ.ออกเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งโดยตรงต่อกรมสรรพากร โดยปรับใหม่สำหรับการลงทุนในกองทุน SSF/RMF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมายใหม่นั้นกำหนดให้บุคคลที่ซื้อกองทุน SSF/RMF ต้องเป็นผู้แจ้งความประสงค์ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับทางบลจ. ที่ได้ลงทุนไว้ และให้ถือเป็นการแสดงความยินยอมให้บลจ. นั้นๆนำส่งข้อมูลการลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ของตนเองให้กับกรมสรรพากรต่อไป

สำหรับขั้นตอนปฎิบัติสำหรับผู้ซื้อหน่วยลงทุนใน SSF และ/หรือ RMF ที่ทาง AIMC แนะนำ ได้แก่

1) ผู้ลงทุนจะต้องแจ้งความประสงค์ขอลดหย่อนภาษีโดยตรงต่อบลจ. ที่ซื้อกองทุน SSF และ RMF ไว้ โดยต้องแจ้งให้แล้วเสร็จภายในวันทำการสุดท้ายของปี มิเช่นนั้น ผู้ลงทุนจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการลงทุนนั้นได้ สำหรับช่องทางการแจ้งความประสงค์ของบลจ. แต่ละแห่งอาจแตกต่างกันมีทั้งแบบ SMS ที่บลจ. ส่งให้ผู้ลงทุน เพื่อให้เข้าไปทำรายการได้ตามลิงก์ที่แนบ หรือผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็ปไซต์ของบลจ. อีกทั้งสามารถแจ้งได้ที่ตัวแทนขายกองทุนที่ตนเข้าลงทุน

2) เมื่อถึงสิ้นปีบลจ. แต่ละแห่งก็จะนำรายชื่อผู้ลงทุนที่แจ้งใช้สิทธิพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี

3) ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปกติในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี ผู้ลงทุนไม่ต้องแนบหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุน SSF และ RMF ให้กับกรมสรรพากรอีกต่อไป

4) ผู้ซื้อหน่วยลงทุน SSF และ RMF ต้องแจ้งความประสงค์เพื่อขอลดหย่อนภาษีให้ครบทุกบลจ.ที่ซื้อ โดยการแจ้งความประสงค์เพียงครั้งเดียวสามารถใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องแจ้งใหม่ทุกปี และไม่ต้องแจ้งทุกครั้งที่มีการซื้อหน่วยลงทุน อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ลงทุนซื้อกองทุน SSF และ/หรือ RMF จากบลจ.แห่งใหม่ ในปีถัดๆไป ผู้ลงทุนต้องแจ้งความประสงค์การขอลดหย่อนภาษีต่อบลจ.แห่งใหม่ด้วย (แจ้งภายในวันทำการสุดท้ายของปีที่เริ่มซื้อจากบลจ.ที่ใหม่)

5) หากต้องการสอบทาน ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบสถานะการแจ้งความประสงค์ของตนได้ที่เว็ปไซด์ของบลจ. หรือติดต่อบลจ. แต่ละแห่งได้โดยตรง

อนึ่ง สำหรับผู้ลงทุนที่ได้ซื้อกองทุน SSF/RMF ในปี 2565 ได้ครบตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว AIMC ขอย้ำให้ท่านติดต่อขอแจ้งความประสงค์เพื่อลดหย่อนภาษีได้ทันทีหรือแต่เนิ่นๆ ไม่จำเป็นต้องรอช้าหรือรอจนใกล้สิ้นปี 2565 เพื่อให้ท่านไม่ลืมและไม่พลาดในการรักษาสิทธิประโยชน์ของท่าน ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.แต่ละแห่ง หรือที่เวบไซต์ AIMC (Link: https://ns3.aimc.or.th/web/)

รายละเอียดเพิ่มเติม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 414) เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Link : https://ns3.aimc.or.th/web/wp-content/uploads/2022/dg/dg414.pdf)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 415) เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (Link : https://ns3.aimc.or.th/web/wp-content/uploads/2022/dg/dg415.pdf)