CWT ได้ฤกษ์ เตรียมก่อสร้างโรงแปลงขยะฯ -นำเข้าเทคโนฯ จากฟินแลนด์ต่อยอดโรงไฟฟ้า

HoonSmart.com>>ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เดินหน้าโครงการบริหารจัดการขยะและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ทำพิธีเบิกแม่พระธรณีหรือเปิดหน้าดินเรียบร้อย ส่งยานลูก “กรีน เพาเวอร์ 1” หรือ GP1 เริ่มเข้าพัฒนาพื้นที่ เตรียมก่อสร้างโรงแปลงขยะฯ พร้อมนำเข้าเครื่อง BMH Technology จากฟินแลนด์ หวังต่อยอดสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตกระแสไฟจากเชื้อเพลิง RDF ทั้งหมด ด้านบิ๊กบอส “วีระพล ไชยธีรัตต์” ระบุพร้อมสนับสนุนโครงการขนาดไม่เกิน 10MW เพื่อเป็นไปตามแผนการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทำพิธีเบิกแม่พระธรณี “โครงการบริหารจัดการขยะและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน” หรือ โครงการแปรรูปขยะเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งลงทุนโดย บริษัท กรีน เพาเวอร์ 1 จำกัด (GP1) บริษัทย่อยของ CWT ทั้งนี้ ภายในงานได้รับเกียรติจาก คุณจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ และคุณสุณี มังคลารัตนศรี ปลัดเทศบาลนครนครสวรรค์ และคุณทักษ์สุตา ถิ่นสันติสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด ร่วมพิธีเปิดหน้าดินครั้งนี้ด้วย

“บริษัทฯ มีความปิติยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจจากเทศบาลนครนครสวรรค์ในการพัฒนาโครงการนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางในการกำจัดขยะอย่างยั่งยืนของเทศบาลนครนครสวรรค์ ที่มีเป้าหมายในการกำจัดขยะตกค้างที่ฝังอยู่ในบ่อฝั่งกลบแห่งนี้กว่าล้านตัน และกำจัดขยะใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวันจากชุมชน และ Cluster ของเราอีกกว่าวันละ 400 ตันให้หมด โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ ต้องไม่มีขยะเหลือตกค้างที่ต้องนำไปฝังกลบในแต่ละวันอีกต่อไป”

โดย GP1 ได้เริ่มเข้าพัฒนาพื้นที่และเตรียมก่อสร้างโรงแปลงขยะมูลฝอยชุมชนเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ในทันที พร้อมทั้งได้นำเข้าเทคโนโลยี BMH ของประเทศฟินแลนด์เข้ามาอำนวยความสะดวกเพิ่มมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าจะสามารถเดินระบบเพื่อแปรรูปขยะทั้งหมดเป็นเชื้อเพลิง RDF ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ตาม Roadmap การจัดการขยะของประเทศ ที่ได้มีการกำหนดให้พื้นที่ที่มีขยะปริมาณมาก ควรทำการแปรรูปขยะ เพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้ทางเทศบาลนครนครสวรรค์ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ถึงความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่นี้ ซึ่งจะเป็นโครงการต่อเนื่องจากการผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อให้ได้ศักยภาพในการจัดการขยะที่ได้มาตราฐาน และทำให้สามารถจัดการขยะได้หมดไปจริง ๆ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้เกิดพลังงานทดแทน และศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่อีกด้วย

ทางเทศบาลนครนครสวรรค์จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรทำการศึกษาการนำ RDF ไปผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งในส่วนของความเป็นไปได้ของโครงการ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชน และประเด็นอื่นๆที่จำเป็นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งปฏิกูลจังหวัดนครสวรรค์ และมีการยื่นเรื่องเข้าจังหวัดแล้ว ปัจจุบันทางเทศบาลกำลังติดตามผลตอบรับอยู่อย่างใกล้ชิด โดยหากเป็นไปตามแผนของเทศบาลนครนครสวรรค์ที่จะนำ RDF ที่ได้ไปเผาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่และเทศบาล อาทิ กองทุนที่จัดตั้งขึ้น ส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า การจ้างงานในพื้นที่ และเป็นโอกาสในการแก้ปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานอย่างครบวงจร

กรรมการผู้จัดการ CWT กล่าวอีกว่า เพื่อความสอดคล้องและเป็นการต่อยอดจากการเป็นผู้บริหารจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน บริษัทจะเริ่มดำเนินการศึกษาและออกแบบโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ร่วมกับทางเทศบาลนครนครสวรรค์ควบคู่ไปด้วย เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงพลังงาน RDF ขนาดไม่เกิน 10.0 MW ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถดำเนินงานบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน