GUNKUL-GULF ตั้งระบบเสาฯ AIS 100 MW ลุยพลังงานหมุนเวียน 1,000 MW ใน 5 ปี 

HoonSmart.com>>กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์  ลงนามกับ “แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวิร์ค” ในเครือ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์เสาสัญญาณเครือข่าย AIS ทั่วประเทศ กว่า 100 เมกะวัตต์  มอบหมายให้ กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ออกแบบติดตั้งโครงการ    GULF-GUNKUL จะเดินหน้าร่วมกันลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 1,000 เมกะวัตต์ตามแผนภายใน 5 ปี

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า GUNKUL เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย เช่น โครงการพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) โดยมีทีมงานพัฒนาธุรกิจและทีมงานก่อสร้างที่มีประสบการณ์ สามารถรองรับงานโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้น บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วจึงเห็นควรให้ GUNKUL เข้ามาเป็นผู้รับงานออกแบบติดตั้ง และบริหารงานก่อสร้าง (EPC) นอกจากนี้ จากการที่ทั้งสองบริษัทต่างก็ดำเนินธุรกิจโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย จึงสามารถร่วมกันบริหารจัดการต้นทุนการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับโครงการของ AIS

ความร่วมมือภายใต้บริษัทกัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น  (GGC) นั้น ทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีกหลายโครงการร่วมกัน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ โดยคาดว่าจะมีความคืบหน้าในปลายปีนี้

ด้านนางสาวนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ สายงานกลยุทธ์การลงทุนและธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน (COO) บริษัทกันกุล เอ็นจิเนียริ่ง   (GUNKUL) กล่าวว่า GUNKUL ได้รับความไว้วางใจจาก GULF ในฐานะผู้บริหารงานก่อสร้าง (EPC) สำหรับโครงการวางแผนติดตั้งระบบโซลาร์บนสถานีฐานเครือข่าย AIS ทั่วประเทศกว่า 100 เมกะวัตต์ ซึ่ง GUNKUL มีความเชื่อมั่นที่จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการติดตั้งโครงการโซลาร์มายาวนานกว่า 10 ปี และติดตั้งมาแล้วในหลากหลายรูปแบบมาบริหารจัดการโครงการนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทั้งในเรื่องของงบประมาณและเวลา โดย GUNKUL ยังมีความพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรในธุรกิจโซลาร์ของ GULF ทั้งในส่วนของ EPC หรือความร่วมมืออื่น ๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และมูลค่าเพิ่มกับทั้งสองบริษัท

ส่วนความคืบหน้าของ GGC นั้น นอกจากแผนการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ แล้ว ทั้ง GUNKUL และ GULF ยังร่วมกันมองหาโอกาสในการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยรับมือลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานควบคู่กับการแสวงหาโครงการไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 5 ปีตามที่ได้ตั้งไว้

เมื่อเดือนพ.ค.2565 ที่ผ่านมา GULF และ GUNKUL ได้ลงนามสัญญาความร่วมมือในการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Joint Venture Agreement)  โดยตั้งเป้าที่จะร่วมกันพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 1,000 MW ใน 5 ปี ต่อมาในเดือนก.ค. GULF และ GUNKUL ได้ร่วมกันจัดตั้ง กัลฟ์ กันกุล คอร์เปอเรชั่น (GGC)  ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 โดย GGC เป็นผู้ถือหุ้นในโครงการพลังงานลม 3 โครงการ รวมทั้งสิ้น 170 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว ทั้งสองบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีกหลายโครงการร่วมกัน อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในและต่างประเทศ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่น ๆ