เปิดความเห็น อนุกรรมการ 3:1 ค้านควบรวม ทรู+ดีแทค

HoonSmart.com>>อนุกรรมการฯ ดีลทรู-ดีแทค ลงความเห็นค้าน 3 : 1 ชี้ควบรวบกระทบตลาด หวั่น มือดี ชงรายงานบิดเบือนให้บอร์ดไฟเขียวรวมกิจการ

หลังจากที่ กสทช ได้มีมติแต่งตั้งอนุกรรมการ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค จำนวน 4 คณะ ล่าสุดนี้ ผลปรากฎว่า อนุฯ ทั้ง 4 คณะ ลงมติ 3:1 ไม่เห็นด้วยกับการรวมธุรกิจดังกล่าว โดย 3 อนุกรรมการที่คัดค้านประกอบด้วย

อนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง อนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ และอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี ส่วนอนุกรรมการ 1 เสียงที่เห็นด้วยกับการรวมธุรกิจคือ อนุกรรมการด้านกฎหมาย

อีกทั้ง กสทช. ยังได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพิ่มอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานประสานงานคณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงานศึกษาแนวทางกำหนดมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันผลกระทบจากกรณีการรวมธุรกิจ ภายใต้การทำงานของสำนักงาน กสทช. โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช ทำหน้าที่รวบรวมสรุปผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการ 4 คณะ และโฟกัสกรุ๊ป

แหล่งข่าวจากอนุกรรมการ กล่าวว่า อนุฯ ทั้ง 4 ชุด ได้ทำรายงานส่งให้สำนักงาน กสทช. แล้ว หลายฝ่ายต่างจับตาผลการพิจารณาของบอร์ด กสทช และเป็นกังวลว่า อาจมีการตกแต่งข้อมูล หรือบิดเบือนข้อเท็จจริงจากความเห็นของอนุฯ โดยหยิบยกเฉพาะข้อดีของการรวมธุรกิจ เสนอไปยังบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณาให้อนุมัติควบรวมหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดจากเจตนารมย์ของ อนุฯ ทั้ง 4 ชุด ที่แม้จะมีมติไม่เอกฉันท์ แต่ถือว่าเสียงส่วนใหญ่ก็คัดค้านการควบรวมครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล ในฐานะคณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง และคณะอนุกรรมการฯด้านเศรษฐศาสตร์ ย้ำว่า การควบรวมกิจการ ทำให้โอเปอเรเตอร์ลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดอย่างมาก และแทบไม่มีประเทศไหนอนุญาตให้ควบรวมกิจการ อีกทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจในภาพรวม กล่าวคือในกรณีเลวร้ายที่สุด หากเหลือเพียง 2 รายแล้วร่วมมือกัน จีดีพีจะลดลง 1.99% หรือคิดเป็นมูลค่า 322,892.1 ล้านบาท

ด้านอนุกรรมการด้านกฎหมาย นายกนกนัย ถาวรพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยที่คัดค้านการควบรวม กล่าวว่า ในด้านประเด็นความคลุมเครือเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช.สามารถตีความมาตรการในข้อนี้ ให้รวมถึงคำสั่งห้ามการควบรวมได้ นอกจากนี้ ข้อ 8 ของประกาศ 2549 (ประกอบข้อ 5 และ 9 ประกาศ 2561) ยังให้อำนาจ กสทช. ห้ามการควบรวมหรืออนุมัติแบบมีเงื่อนไข สำหรับการควบรวมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการประเภทเดียวกัน

หากตีความประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของ กสทช. ทุกฉบับจนสุดทางแล้วไม่พบว่า กสทช. มีอำนาจในการตรวจสอบว่าการควบรวมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตนยังมองว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.แข่งขันฯ) สามารถนำมาใช้บังคับได้ ในมาตรา 4(4)”

ประธานอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กล่าวว่า หากมีการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างทรูและ ดีแทคจะส่งผลกระทบต่อสังคมและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ซัพพลายเออร์ และเอกชนที่ทำธุรกิจกับค่ายมือถือทั้ง 2 ค่าย เช่น SMS content หรือ content partners ต่างๆ แต่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้ใช้บริการหรือประชาชนที่เป็นลูกค้า เพราะมีรายงานผลการศึกษาว่า ค่าบริการอาจแพงขึ้น 20% จากการที่ธุรกิจโทรคมนาคมมีการผูกขาด เพราะจะมีผู้ให้บริการเหลือ 2 ราย

“ถามว่าผู้บริโภคจะปกป้องตัวเองได้อย่างไร เพราะเมื่อของมีจำกัด แต่มีแค่ 2 รายใหญ่ ที่ขายสินค้าในตลาด แล้วราคาอาจจะแพงขึ้น 20% และเราจะไม่ใช้ ก็ไม่ได้ เพราะถ้าจะไปเลือก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติหรือ เอ็นที ก็มี MVNO (ผู้ให้บริการเครือข่ายเสมือน) มาเสนอข้อมูลให้ฟังว่าเอ็นทีมีเฉพาะบริการ 3G เท่านั้น ไม่มี 4G และ 5G ถ้าใครอยากใช้ 4G และ 5G ก็ต้องไปผูกขาดกับ 2 รายใหญ่เท่านั้น

สำหรับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯด้านเทคโนโลยีระบุไว้ว่า หากไม่อนุญาตให้ควบรวม การแข่งขันในตลาดก็ไม่ลดลง เนื่องจากบริษัททั้ง 3 ไม่มีประโยชน์ร่วมกัน และจำเป็นต้องทำธุรกิจต่อไป โดยที่บริษัทดีแทคไม่ได้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แต่อย่างใด ขณะที่ทรูกับเอไอเอส มีให้บริการดังกล่าว ดังนั้น ดีแทค จำเป็นต้องนำเสนอบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว จึงต้องมีอัตราค่าบริการที่จูงใจ และจะยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด

อ่านข่าว

TRUE-DTAC ร่วงแรงหลังข่าวสะพัดอนุกรรมการส่วนใหญ่ค้านรวมธุรกิจ