HoonSmart.com>> “เครดิต สวิส” มองลงทุนครึ่งปีหลังปี 65 “หุ้น” แนวโน้มผลตอบแทนน่าสนใจใน 3-6 เดือนข้างหน้า หลังถูกเขายหนัก ระยะสั้นหุ้นมีโอกาสขึ้นรับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เชื่อ “หุ้นจีน” จะปรับตัวดีขึ้น ผลตอบแทนดีกว่าตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ส่วน “หุ้นไทย” คาดผลตอบแทนไม่สูงมากแล้ว หลังราคาขึ้นรับความคาดหวังท่องเที่ยวทยอยกลับมา ดัน P/E แพงสุดในตลาดเกิดใหม่ ส่วน “เศรษฐกิจสหรัฐฯ” โอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ปี 2565 เปรียบเสมือนพายุลูกใหญ่สำหรับเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงิน การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในรอบหลายทศวรรษ สงครามในยูเครน การหยุดชะงักของภาคการผลิตและขนส่ง สถานการณ์เหล่านี้ต่างส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะเงินเฟ้อสูงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่น่ากังวลอย่างเห็นได้ชัด การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางในเดือนมิถุนายนก็เป็นการส่งสัญญาณว่าเรากำลังเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ล้วนถูกปรับฐานในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งหมายความว่า พอร์ตการลงทุนแม้จะมีการกระจายความเสี่ยงเป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาดปัจจุบัน แต่ทั้งนี้นักลงทุนก็ไม่ควรสูญเสียกำลังใจ และวู่วามรีบเทขายพอร์ตการลงทุน
ช่วงต้นปี 2565 ทางเครดิต สวิส ได้ให้มุมมองของการลงทุนในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ” เราคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะชะลอตัว เงินเฟ้อจะสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด และธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ย การลงทุนในตลาดการเงินจะให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับปานกลาง วงจรเศรษฐกิจขาลงกำลังจะกลับมา
การคาดการณ์ของเราเมื่อต้นปีค่อนข้างแม่นยำ แต่สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน อาทิ สงครามในยูเครน หรือการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุดในจีน ได้เร่งปรากฏการณ์เหล่านี้ให้เกิดเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ภาวะเงินเฟ้อที่อยู่นานกว่าปกติ การปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้น และผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดการเงินจนถึงปัจจุบันที่ต่ำลงเป็นอย่างมาก
ณ ตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าธนาคารกลางมีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำลงให้ได้ แม้การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เครดิตสวิสได้ลดเป้าหมายคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ทั่วโลกในปี 2565 ลงเหลือ 3.5% จาก 4.0% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี เรายังคงเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถหลีกเลี่ยงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (stagflation) ซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1970 ได้ด้วยนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันจะช่วยป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินจะคลี่คลายได้
ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่ในขณะนี้กำลังเปลี่ยนไปสู่ระดับที่สูงขึ้นทั่วโลก และในระหว่างการเปลี่ยนแปลงนี้ ตลาดการเงินอาจมีความผันผวน อย่างไรก็ดีหากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเป็นไปอย่างรวดเร็วก็จะทำให้ความผันผวนในช่วงเปลี่ยนผ่านเกิดแค่ในระยะสั้นๆ
นักลงทุนควรรับมือกับความปั่นป่วนของตลาดด้วยความหนักแน่น และด้วยเป้าหมายการลงทุนระยะยาวที่ชัดเจน การตัดสินใจเทขายพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้อาจจะไม่เหมาะสม เพราะจุดต่ำสุดของตลาดในรอบนี้อาจจะอยู่ไม่ไกลนัก เราเริ่มเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ ทางที่ดีนักลงทุนควรกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนต่อไป
John Woods, Chief Investment Officer Asia Pacific ของเครดิต สวิส มีความเห็นว่า “เรายังคงมองว่าโอกาสในการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ และทั่วโลกในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำ และคาดหวังว่าจะเห็นการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การเงินของบริษัทในสหรัฐฯ และยุโรปยังมีความแข็งแกร่ง และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่ดี ทั้งหมดเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรป เครดิตสวิสยังแนะนำให้ลงทุนในตลาดหุ้น (Overweight) โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน ด้วยเราเล็งเห็นว่ารัฐบาลจีนที่ดูมีความพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนทางการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ”
แนวโน้มของเศรษฐกิจและสกุลเงินในประเทศหลัก
• สหรัฐอเมริกา: เครดิต สวิส คาดการณ์ว่าการเติบโตของ real GDP ของสหรัฐฯ ในปี 2565 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2% เนื่องจากอานิสงค์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังภาวะโรคระบาดกำลังจะผ่านพ้นไปไป และเปลี่ยนไปสู่การเติบโตที่เริ่มชะลอตัว ปัจจัยพื้นฐานในภาคครัวเรือนและธุรกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ผลกระทบจากทั่วโลกจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มใกล้ถึงจุดสูงสุด แต่จะยังคงสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จนถึงช่วงปลายปี เงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) อาจยังคงแข็งค่าเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี และอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เราแนะนำให้ถือสกุลเงินประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity currencies) อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมเรายังคงรักษามุมมองที่เป็นกลางต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD)
• ยุโรป (Eurozone): มีการเติบโตดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคบริการหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ชดเชยความอ่อนแอในเศรษฐกิจภาคการผลิต อย่างไรก็ตามเรามองเห็นปัจจัยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น ความขัดแย้งกับรัสเซียที่ยืดเยื้อ และการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ เราคาดว่า GDP จะเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (below-consensus) ที่ 2.4% ในปี 2565 และ 2% ในปี 2566 นอกจากนี้ การหยุดนำเข้าก๊าซจากรัสเซียยังคงเป็นความเสี่ยงขาลงที่สำคัญ เรามองว่าสกุลเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ (EUR/USD) จะอยู่ที่ 1.03 ในช่วง 3 เดือน และจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ และเมื่อธนาคารกลางยุโรป (ECB) เริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด เราคาดว่าสกุลเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ (EUR/USD) ใน 12 เดือนจะอยู่ที่ 1.07
• สาธารณรัฐประชาชนจีน: แม้ว่าการใช้จ่ายภาครัฐเมื่อนับเป็นส่วนแบ่งของ GDP น่าจะอยู่ในระดับสูงใกล้กับปี 2563 และความเสี่ยงด้านนโยบายการกำกับดูแล (regulatory risks) ดูจะคลี่คลายลง แต่ผลกระทบจากการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศไม่ดีนัก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากกำลังซื้อและความต้องการสินค้าจากภายนอกประเทศที่ชะลอตัวในครึ่งปีหลัง เนื่องจากการปรับนโยบายทางการเงินให้เข้มงวดขึ้นในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าสินค้าจีน ดังนั้น เราจึงปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 5.9% เมื่อตอนต้นปีเป็น 4.8% ในระยะกลางเราคาดการณ์ว่าค่าเงิน CNY จะอ่อนลงเมื่อเทียบกับ USD เนื่องจากการนำเข้าที่สูงขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเงินในประเทศที่จะไหลออกจากการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับตอนนี้เราคาดการณ์อัตราและเปลี่ยน USD/CNY ที่ 6.58 ใน 3 เดือน และ 6.85 ใน 12 เดือน
• ญี่ปุ่น: คาดว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเติบโต 1% ในปี 2565 จากแนวโน้มการส่งออกที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในในกลุ่มประเทศผู้นำเข้าสินค้า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการบริโภคสินค้าในประเทศที่ลดลง เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารที่ส่งผลต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดีมีความเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลังการเลือกตั้งสภาสูงในเดือนกรกฎาคม ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงนโยบายสนับสนุนให้ค่าเงินเยนอ่อน (JPY) เพื่อหนุนการส่งออกและเพิ่มอัตราเงินเฟ้อในประเทศ การคาดการณ์ค่าเงิน USD/JPY ของเรานั้นอยู่ที่ 138 สำหรับช่วง 3 เดือน และ 135 สำหรับช่วง 12 เดือน
มุมมองสินทรัพย์หลัก
• หุ้น (ตราสารทุน) มีแนวโน้มผลตอบแทนที่น่าสนใจในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า หลังจากหุ้นถูกเทขายออกมาอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ในระยะสั้นตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นหลังการประกาศผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งคาดว่าจะไม่ได้แย่จนเกินไปนัก
o จีน ความพยายามของรัฐบาลจีนเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การผ่อนคลายมาตรการล๊อคดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง และการที่สหรัฐฯอาจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีสำหรับสินค้านำเข้าของจีน เป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดหุ้นจีน นอกจากนี้เรายังเห็นการฟื้นตัวของกิจกรรมทางการค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้รวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ สภาพเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อผลประกอบการของบริษัทในประเทศจีน เมื่อตลาดหุ้นจีนมีเสถียรภาพ เราเชื่อว่าหุ้นจีนจะปรับตัวดีขึ้นและให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า Emerging markets อื่นๆ
o ประเทศไทย ดูเหมือนว่านักลงทุนจะให้ความคาดหวังกับการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แม้ว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่งเริ่มทยอยกลับมาก็ตาม และถึงแม้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจะมีการปรับตัวดีขึ้น แต่ราคาหุ้นเมื่อวัดจาก อัตรา PE แล้วยังนับว่าแพงที่สุดเมื่อเทียบกับ Emerging markets อื่น ๆ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะไม่สูงมากจากราคาปัจจุบัน
• ตราสารหนี้ เราเริ่มเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) อันเนื่องมาจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวถูกปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจนใกล้กับเป้าหมายที่เราตั้งไว้
o เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้ปรับระดับการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจาก Underweight เป็น Neutral และแนะนำให้ลงทุนในตราสารหนี้ในระดับ Investment grade เนื่องจากคาดว่าวัฏจักรเศรษฐกิจขาลงจะส่งผลกระทบต่อตราสารหนี้ในระดับกลุ่มเก็งกำไร Speculative grade
o เรายังคงแนะนำการลงทุนในตราสารหนี้บริษัทในเอเชียบางตัว เช่น ตราสารหนี้ High yield (ยกเว้นของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจีน) และพันธบัตรรัฐบาลจีน เนื่องจากสินทรัพย์ย่อยทั้งสองประเภทนี้มีปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคงและผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าตราสารหนี้ของบริษัทลักษณะเดียวกันในตลาดที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้กลุ่มสินทรัพย์ดังกล่าวยังทนต่อความผันผวนของตลาดในช่วงที่ผ่านมาได้ดี
o เราแนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนในตราสารหนี้ High yield ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจีน แม้ว่ากลุ่มทรัพย์สินนี้จะให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมากหลังจากถูกเทขายอย่างหนักในหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังอยู่ในระดับต่ำ และบริษัทเหล่านี้ยังคงขาดแหล่งสนับสนุนเงินทุนแลสภาพคล่อง เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนก่อนเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว
• สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) อุปทาน(supply) ของสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงฝืดเคือง และมีความเสี่ยงที่สถานการณ์จะแย่ลงจากการหยุดชะงักการผลิต ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้อีกในระยะสั้น ก่อนปัญหาการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์จะคลี่คลายในที่สุด แนะนำให้ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อกระจายความเสี่ยงในพอร์ตลงทุน และป้องกันภาวะเงินเฟ้อและปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ
o โลหะมีค่า รวมถึงทองคำ ได้รับผลกระทบเชิงลบจากดอกเบี้ยระยะสั้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลาง อย่างไรก็ดีราคาของสินทรัพย์ยังคงได้รับการสนับสนุนจากความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจ และปัญหาความขัดแย้งประหว่างประเทศ
o น้ำมัน เราคาดว่าจะมีการปรับสมดุลของตลาดน้ำมันเมื่อเข้าสู่ปีใหม่ และในที่สุดแล้วราคาน้ำมันจะเริ่มปรับตัวลง ในระยะสั้นราคาน้ำมันอาจปรับตัวขึ้นได้
อีกเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาน้ำมันมีความผันผวนในระดับที่สูงจึงยากต่อการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดนี้
• การลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก (Alternative investments) การลงทุนในหุ้นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) และ Hedge Fund ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นและตราสารหนี้อย่างมากในปีนี้ เราแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มทรัพย์สินทางเลือกในพอร์ตการลงทุนโดยจัดน้ำหนักให้เหมาะสม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงโดยรวมและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น โดยรวมแล้วทรัพย์สินทางเลือกมีปัจจัยสนับสนุนที่ดี จากราคาทรัพย์สินที่ไม่แพงเกินไป กิจกรรมการลงทุนที่ดี และความต้องการของนักลงทุนต่อสินทรัพย์ประเภทนี้ที่เพิ่มขึ้น