ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดกนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต้นปี 62 จาก 1.50% เป็น 1.75% หรืออย่างเร็วเดือนธ.ค.นี้ รอดูความชัดเจนของเงินเฟ้อ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมช่วงต้นปี 2562 หรืออย่างเร็วในช่วงการประชุมเดือนธันวาคม 2561 เพื่อดูความชัดเจนของเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ยังมองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่ กรรมการ 2 ท่านออกเสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% จากความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต
SCB EIC ประเมินว่า กนง. เสียงส่วนใหญ่ยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ เนื่องจากอยากรอดูความชัดเจนของค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของทั้งปีซึ่งแม้ในปัจจุบันจะอยู่ในกรอบแต่ยังใกล้ขอบล่างของเป้าหมายและมีความเสี่ยงด้านต่ำอีกด้วย โดยอีไอซีมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มชะลอลงจากฐานสูงของราคาน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ขณะที่ราคาอาหารสดยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากปริมาณผลผลิตที่ยังสามารถออกสู่ตลาดได้มากจากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย จึงเป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีจะมีแนวโน้มชะลอลงอีก
นอกจากนั้น ยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยที่แม้จะขยายตัวได้ดี แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำจากสงครามการค้าที่อาจกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวให้ต่ำกว่าคาดได้ อีไอซีจึงมองว่า กนง. จะรอดูความชัดเจนของข้อมูลทางเศรษฐกิจต่อไป (data dependent) เพื่อให้แน่ใจว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะไม่กระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสามารถทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายของปี 2018 ได้
SCB EIC คาดว่า กนง. จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% เป็น 1.75% ในช่วงต้นปีหน้า หรืออย่างเร็วในช่วงการประชุมเดือนธันวาคมปีนี้ โดยสาเหตุหลักมาจากความกังวลในเรื่องเสถียรภาพระบบการเงิน และความจำเป็นของการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (policy space) ในอนาคต โดย กนง. ได้สื่อสารว่า มีความกังวลอย่างต่อเนื่องกับการประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควรภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งแสดงความกังวลมากขึ้นในช่วงหลังต่อการก่อหนี้ใหม่ในภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น และมองว่า อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการสะสมความเปราะบางซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต
นอกจากนี้ ช่องว่างการผลิต (output gap) ที่ปิดลงในไตรมาสแรกของปี และเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวเหนือระดับศักยภาพต่อไป ทำให้ กนง. จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้หากพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสื่อสารว่าความจำเป็นของการคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำมากมีน้อยลง ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจอาจเผชิญหน้ากับปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ซึ่ง กนง. จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นที่ต้องสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงิน (policy space) ไว้เพื่อรองรับกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงในระยะข้างหน้า
SCB EIC มองว่า วัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวัฏจักรนี้จะต่ำกว่าวัฏจักรในอดีต หากพิจารณาวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีตจะพบว่า อัตราการขึ้นดอกเบี้ยนนโยบายจะค่อนข้างเร็ว ประมาณ 2% ต่อปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงนั้นค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ กนง. ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและรักษาระดับของอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
แนวโน้มค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของไทยได้ปรับตัวลดลง เนื่องด้วยปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จากกระแสโลกาภิวัตน์ การขยายตัวของ e-commerce ที่ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา การพัฒนาของเทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต รวมไปถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ความต้องการใช้เงินเพื่อการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับการออม ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นที่ กนง. ต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วจึงลดน้อยลง
นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือนที่ปรับขึ้นจาก 40% ต่อ GDP ในปี 2003 มาอยู่ที่ 78% ต่อ GDP ในปัจจุบัน จะทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะภาระการชำระหนี้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่คุณภาพสินเชื่อเพื่อการบริโภค และ สินเชื่อ SME ยังคงโน้มแย่ลง ดังนั้น กนง. น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้