GLOCON หลุด C เดินเกมรุกเร่งเพิ่มสินค้า ลุยส่งออกดันรายได้เติบโต

HoonSmart.com>> “โกลบอล คอนซูเมอร์” เผยตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย C ดีเดย์ 19 พ.ค. หลังส่วนผู้ถือหุ้นเกิน 50% เร่งเดินเกมรุกขยายธุรกิจภายใต้จุดแข็ง “ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตอาหาร” ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มช่องทางจำหน่ายภายในประเทศ-ลุยตลาดส่งออกเต็มรูปแบบ ดันรายได้รวมแตะ 3,000 ล้านบาท ปี 65 ขยับสู่เป้า 10,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี

นพพร ภัทรรุจี

นายนพพร ภัทรรุจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) ผู้นำการผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารและบรรจุภัณฑ์ เปิดเผยว่า ล่าสุด ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 บริษัทฯได้รับการปลดเครื่องหมาย C หุ้น GLOCON จากตลาดหลักแห่งประเทศไทย (ตลท.) เรียบร้อยแล้ว หลังจากได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายใน ส่งผลให้งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2565 ส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% ของทุนชำระแล้ว ตามเกณฑ์ที่กำหนด

บริษัทฯเตรียมเดินเกมรุกขยายธุรกิจภายใต้จุดแข็ง “ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตอาหาร” ขับเคลื่อนยอดขายทุก Business Unit ให้เติบโตแตะ 1 พันล้านบาท ดันรายได้รวมขยับจาก 3,000 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 10,000 ล้านภายใน 5 ปี (2565-2570) ด้วยการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการขยายช่องทางจำหน่ายภายในประเทศให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อาทิ โมเดิร์นเทรด และสถานีบริการน้ำมันรายใหญ่ เป็นต้น พร้อมลุยตลาดส่งออก โดยเฉพาะประเทศแถบอเมริกา, ยุโรป และเอเชียอย่างเต็มรูปแบบ หลังประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากการย้ายสายการผลิตใหม่ ทั้งโรงงานอาหารแปรรูป จังหวัดสมุทรสาคร และโรงงานผลไม้อบแห้ง จังหวัดกาญจนบุรี

นายนพพร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ บริษัทฯยังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจเชิงรุก ด้วยการเจรจาทำ M&A อย่างน้อย 1 ดีลต่อปี เพื่อต่อยอดการเติบโตอย่างแข็งแกร่งพร้อมก้าวสู่ Sustainable Food ตอกย้ำวิสัยทัศน์การก้าวสู่ความเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมด้านการผลิตอาหารระดับโลก” ซึ่งจากแผนที่วางไว้มั่นใจสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2566 อย่างแน่นอน

ปัจจุบัน บริษัท โกลบอล คอนซูเมอร์ แบ่งธุรกิจเป็น 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1. ธุรกิจอาหารแปรรูปแช่แข็ง, อาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมทาน, ลูกชิ้นทิพย์ และผลไม้อบแห้ง คิดเป็นสัดส่วน 73% ของรายได้รวม, 2. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทต่างๆ สัดส่วน 24% และ 3. ธุรกิจเทรดดิ้ง สัดส่วน 3%