สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ในการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G-20 นอกจากจะมีประเด็นด้านการค้าแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจและมีความสำคัญไม่แพ้กันคือ รัฐมนตรีคลังและธนาคารกลางของประเทศสมาชิกมีความเห็นร่วมกันว่า การลดขนาดงบดุลให้เข้าสู่ภาวะปกติ หากทำแบบเร่งรับจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ธนาคารกลางหลายประเทศได้ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อแก้ไขวิกฤติการเงินในช่วงปี 2008
Federico Sturzenegger ผู้ว่าการ ธนาคารกลางอาร์เจนติน่าซึ่งได้แถลงข่าวหลังการประชุม กล่าวว่า เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะขาขึ้น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะยกเลิกมาตรการการเงินที่ใช้มาในช่วงวิกฤติ แต่ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งต้องมีการสื่อสารอย่างระมัดระวังและรอบคอบกับประชาชนให้เข้าใจถึงทิศทางของนโยบาย
ตัวอย่างการตอบสนองของตลาดที่กลุ่ม G-20 กังวล คือช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ตัวเลขการจ้างสหรัฐดีเกินคาด ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวเพิ่มขึ้น เพราะตลาดเก็งว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หลังจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่มีผลให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นปรับขึ้น
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และส่งสัญญานว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ ทางด้านธนาคารกลางยุโรปก็เริ่มลดการซื้อพันธบัตรและมีแผนที่จะยุติการซื้อภายในปีนี้
ทางด้านญี่ปุ่นแม้จะเห็นด้วย แต่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อึดอัด ด้วยเหตุที่เป็นประเทศเดียวที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพราะหวังจะให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 2% อย่างไรก็ตามการดำเนิน
นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ต่อเนื่องยังไม่มีผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากนัก เงินเฟ้อเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% จากระยะเดียวกันของปีก่อน
มีการคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีก โดยนาย ฮารุฮิโต คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น(BoJ)กล่าวว่า การปรับนโยบายการเงินมากลับมาสู่แบบปกติของสหรัฐ แสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของสหรัฐ ซึ่งมีผลดีต่อเศรษฐกิจโลกรวมถึงญี่ปุ่น
“ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังขยายตัวไม่มากนัก ส่วนเงินเฟ้อยังต่ำกว่าสหรัฐและยุโรป ธนาคารกลางยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปอีก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเสถียรภาพของราคา”
นอกจากนี้บีโอเจยังคงประมาณการเงินเฟ้อไว้ที่ 2% ตลอดปีงบประมาณไปจนถึงเดือนมีนาคม 2019 และคาดว่าจะทรงตัวในระดับนี้ในปีถัดไป