TU มุ่งแหล่งเงินทุน “ยั่งยืน” หนุนกำไรโตมั่นคง

HoonSmart.com>>บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ก้าวนำเทรนด์โลกเรื่องความยั่งยืน สร้างผลงานโดดเด่น ทำให้บริษัทสามารถก้าวเข้าสู่แหล่งการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน ESG หรือเรียกว่า Blue Finance ได้ในปี 2564 โดยได้รับสินเชื่อและออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนเป็นครั้งแรกทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันบริษัทยังคงเดินหน้าเพิ่มเงินทุนจากแหล่งนี้ คาดว่าในเดือนม.ค.2565 จะระดมรวมแล้วมากกว่า 27,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของหนี้สินระยะยาว และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 75% ในปี 2568 สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกำไรให้เติบโตดียิ่งขึ้นในทุกสถานการณ์

ทั้งนี้ Blue Finance คือ การเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability Linked Financings) มีจุดเด่นมากกว่าการจัดหาเงินแบบดั้งเดิม ไทยยูเนี่ยนฯสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว้างขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ดีขึ้น ที่สำคัญต้นทุนทางการเงินจะยิ่งลดลง จากการจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุน หากบริษัทสามารถดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืนที่ระบุไว้ตามช่วงอายุของเครื่องมือทางการเงินนั้นๆ ได้

“Blue Finance เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ร่วมทำงานกับสถาบันการเงิน เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์มหาสมุทร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ อุตสาหกรรม และโลกของเรา ในขณะเดียวกันยังคงตอบโจทย์ผู้บริโภคทั่วโลกที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและมีสารอาหารตามหลักโภชนาการ”

 

ไทยยูเนี่ยนฯ ทำได้เพราะ…

บริษัทเริ่มต้นธุรกิจจากโรงงานผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ทีมผู้บริหารมีประสบการณ์อยู่ในธุรกิจอาหารทะเลมากว่า 45 ปี สามารถผ่านพ้นทุกวิกฤตการณ์มาได้ แถมกำไรยังคงเติบโต และมีอัตราเงินปันผลที่ดี เพราะนโยบายการวางเป้าหมาย”โตยั่งยืน”

ปัจจุบันถือว่าไทยยูเนี่ยนฯเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลกและหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยยอดขายในปี 2563 กว่า 132,402 ล้านบาท (4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากการมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครองตลาดหลักๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาเหนือ (สหรัฐอเมริกาและแคนาดา) สัดส่วน 44% และยุโรป 29% ในขณะที่ยอดขายในประเทศไทยมีสัดส่วน 10% และตลาดอื่นๆ อีก 17% ของยอดขายทั้งหมด มีฐานการผลิตกระจายอยู่ 14 ประเทศและมีแรงงานทั่วโลกมากกว่า 40,000 คน ที่ทุ่มเทให้กับการบุกเบิกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่สร้างสรรค์และยั่งยืน

นอกจากนี้ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและมั่นคง ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรอยู่ที่ระดับ “A+” แนวโน้ม “บวก” เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 จากบริษัททริสเรทติ้ง และที่ระดับ “A-“ แนวโน้ม “คงที่” (ซึ่งเป็นอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกับประเทศไทย) เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 จาก Japan Credit Rating Agency, Ltd. หรือ JCR

เมื่อผสานกับความแข็งแกร่งของธุรกิจ เจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่เป็นผู้นำตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย ได้แก่ ซีเล็ค คิวเฟรช โมโนริ OMG Meat เบลลอตต้า และมาร์โว่ นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบอาหารภายใต้แบรนด์ UniQ™BONE และ UniQ™DHA และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพแบรนด์ ZEAvita ก็สามารถเอาชนะทุกปัจจัย

เห็นได้ชัดเจนในปี 2563 ถือเป็นปีที่ท้าท้ายจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่บริษัทกลับมีผลประกอบการที่ยอดเยี่ยม ด้วยยอดขายเติบโต 4.9% กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 16.4% เป็น 23,418 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,246 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.7% มีกระแสเงินสดอิสระถึง 10,375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.2% สัดส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 0.94 เท่า ณ สิ้นปี 2563

สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2564 ยอดขายยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็น 102,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรขั้นต้น 18,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% และกำไรสุทธิ 6,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.0%

ทั้งนี้ยอดขายจากธุรกิจหลักยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยังคงอัตรากำไรในระดับสูง ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและสถานการณ์โควิด-19 ไปได้

KPI ชัดเจน ช่วยลดภาระดอกเบี้ย

นอกจากจะเป็นบริษัทอาหารทะเลของคนไทยที่เติบโตในระดับโลกแล้ว ไทยยูเนี่ยนฯมองว่าการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบคือหัวใจสำคัญของธุรกิจ โดยเฉพาะความยั่งยืนของทะเล เพราะถือคติว่าหากไม่มีทะเลแล้วก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจอาหารทะเลได้ สอดคล้องกับแนวคิดและเป้าหมายเรื่อง Healthy Living, Healthy Oceans ที่มองธุรกิจเป็นมากกว่าอาหารทะเล แต่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ให้กับผู้คน และต้องดูแลทรัพยากรในท้องทะเลไปด้วย การทำงานด้านความยั่งยืน ตอบรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSDG ไปพร้อมกัน

ในปี 2558 ไทยยูเนี่ยนเปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นหลักๆ ที่ให้ความสำคัญคือการดูแลแรงงานทั้งในบริษัทเองและห่วงโซ่อุปทานให้มีการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างโปร่งใส การผลิตต่างๆ มีความรับผิดชอบ และดูแลสังคม

บริษัทลงมือทำจริงจนสามารถนำมาเป็น KPI ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงานที่เชื่อมโยงกับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อและหุ้นกู้ Blue Finance

ตัวอย่างผลงานด้านความยั่งยืน

• เข้าร่วมในภาคีข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact)
• เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF)
• เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 8 ปีติดต่อกัน
• ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน
• อันดับหนึ่ง Seafood Stewardship Index (SSI) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

Blue Finance ที่ไทยยูเนี่ยนฯ

ในปี 2564 ไทยยูเนี่ยนได้เริ่มก้าวสู่ Blue Finance ด้วยซีรีย์ของสินเชื่อและหุ้นกู้ที่ส่งเสริมความยั่งยืน เพื่อบริหารการเงินของธุรกิจที่มีโครงการต่างๆ ในการดูแลมหาสมุทรและอุตสาหกรรมอาหารทะเลในภาพรวม โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากเป้าหมายการดำเนินงานยั่งยืน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์หรือ DJSI ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง 2.การลดปริมาณความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้า และ3.บริษัทต้องซื้อปลาจากเรือที่มีเครื่องมือการตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์และ/หรือผู้ตรวจสอบความโปร่งใสของซัพพลายเชนในจัดหาปลาทูน่าทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่บริษัทสร้างความยั่งยืนได้อย่างแน่นอน

นอกจากนี้ Blue Finance นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทที่ต้องการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย โดยบริษัทได้ดำเนินการตามแผนและได้รับการตอบรับที่ดีมาก ได้แก่

1.ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Loan) เป็นครั้งแรกทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย สินเชื่อที่ออกในประเทศไทยเป็นสกุลเงินไทยบาทและดอลลาร์สหรัฐ และสินเชื่อนินจา/ซามูไรในประเทศญี่ปุ่นเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและเยน รวมทั้งสิ้นประมาณ 12,000 ล้านบาท ระยะเวลาในการกู้ยืม 5 ปี ซึ่งมีการกู้ยืมครั้งแรกในเดือนก.พ.2564 ได้รับการตอบรับที่ดีสูงกว่าความต้องการมากกว่า 2 เท่า

2. การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มูลค่า 5,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.47% ต่อปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 ยอดจองซื้อก็มากกว่า 2 เท่า

3. การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนล็อตที่สอง มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท จำนวน 2 รุ่น เพื่อกระจายกลุ่มนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น ประกอบด้วย รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.27% ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.36% ต่อปี ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2564 มียอดจองซื้อมากกว่า 2 เท่าเช่นกัน

4. การออกสินเชื่อนินจาครั้งที่สองที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 สกุลเงินเยนทั้งหมด 14,000 ล้านเยน ระยะเวลา 5 ปี และจากผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องและผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก JCR อยู่ที่ A- ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับที่ประเทศไทย ทำให้ไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับจากสถาบันการเงินมากกว่า 2 เท่าตัวของความต้องการ

5. บริษัทฯ ยังได้สินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ท้องทะเล จำนวน 2,000 ล้านบาท จากธนาคารชั้นนำในประเทศไทย เมื่อ 13 ธ.ค. 2564

Blue Finance ของไทยยูเนี่ยน คว้ารางวัลจากเวที Business+ Product of the Year Awards 2021

ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับบางธนาคารในประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นและตราสารอนุพันธ์ให้เป็นวงเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อมหาสมุทร และอุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยรวม

ประโยชน์ของ” เงินทุนยั่งยืน”

• บริษัทฯ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว้างขึ้นและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทีดีขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนหรือให้เงินกู้กับกิจการที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

• ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเพิ่มเติม หากบริษัทสามารถดำเนินการเพื่อบรรลุตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ระบุไว้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของความยั่งยืนของบริษัท

•บริษัทสามารถออกตราสารทางการเงินใหม่ และ สร้างมาตรฐานของเงื่อนไขและข้อกำหนดให้กับตลาดเงิน

• บริษัทแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและส่งเสริมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

• มีความยืดหยุ่นในการจัดสรรเงินให้สอดคล้องกับความต้องการและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

• พัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

• ขับเคลื่อนและสร้างจิตสำนึกที่ดีของการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกฝ่ายงานภายในองค์กร

อย่างไรก็ตาม การจัดหาเงินทุนอย่างยั่งยืนนับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายของบริษัทในการมุ่งสู่เป้าหมายทางการเงินอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเน้นการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย แต่มิใช่เพียงการทำความเข้าใจเรื่องการเงินและนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์เท่านั้น บริษัทต้องชี้แจงถึงเป้าหมาย กลยุทธ์ กิจกรรม ความสำเร็จที่ผ่านมา และแผนงานในอนาคตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (SeaChange®) สร้างความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการจัดหาเงินทุน และการตรวจสอบ การรับรอง ต่างๆ ที่จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นที่จะเข้ามาลงทุน และให้มูลค่ากับสิ่งที่บริษัทฯ ได้ดำเนินไปแล้วหรือสัญญาว่าจะทำให้ดีขึ้นในระยะยาว

เชื่อว่าความมุ่งมั่นเรื่องความยั่งยืนมายาวนานของไทยยูเนี่ยนฯจะได้รับการสนับสนุนที่ดีขึ้นจากนักลงทุนและพันธมิตรทุกฝ่าย ตามกระแสหลักของโลก เห็นได้จากกองทุน ESG เกือบ 60 แห่ง ในประเทศไทยเติบโตก้าวกระโดดถึง 96% จากต้นปี2564 มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารรวมประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ช่วยเพิ่มมูลค่ากิจการและสร้างความมั่นคงให้กับไทยยูเนี่ยนฯในตลาดทุนตลาดเงินโลกได้