HoonSmart.com>>รัฐมนตรีคลัง หวังธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้เศรษฐกิจและสังคม 3 ด้าน ”สนับสนุนนโยบายรัฐ-วางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล-ยกระดับคววามคุ้มครอง” หนุนฟื้นเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ การประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี ๒๕๖๔ (CEO Insurance Forum 2021) หัวข้อ “ระบบประกันภัยกับการขับเคลื่อนการฟื้นตัวและรองรับความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและสังคม” โดยระบุว่า การดำเนินการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงการคลังมีนโยบายนำการประกันภัยเข้ามาช่วยเป็นภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม ให้การประกันภัยเข้าไปมีบทบาทสำคัญใน 3 ประเด็น
1.การส่งเสริมให้การประกันภัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยคาดหวัง“การประกันภัยสนับสนุนนโยบายภาครัฐ” เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ขยายความคุ้มครองไปยังพืชเศรษฐกิจอื่น การพัฒนากฎหมายประกันภัยพืชผลทางเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยพิบัติ นำประกันภัยสนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การประกันภัยทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
รวมถึงการสร้าง “ความมั่นคงด้านสุขภาพ” ต่อยอดของระบบสวัสดิการ ช่วยให้ประชาชนรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น และประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี 2565 และในปี 2573 สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 27% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ การพัฒนากฎหมายประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจจึงมีความสำคัญ ช่วยกำหนดมาตรฐาน แนวทางการพัฒนาที่เป็นระบบและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน
2.การปรับตัวด้านดิจิทัล สำนักงาน คปภ. ต้องพิจารณาออกกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการสร้าง Ecosystem ให้กับภาคธุรกิจ สนับสนุนการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน และพัฒนา Platform ต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสของธุรกิจ เพิ่มการเข้าถึงของประชาชนในวงกว้าง และเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขัน การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ และในระยะยาวเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน
3.ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน ธุรกิจประกันภัยต้องยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยสามารถเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนได้สะดวกรวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย ทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน