บลจ.ไทยพาณิชย์คาดหุ้นไทยปลายปีมีลุ้น 1,680–1,700 จุด

HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ คาดตลาดหุ้นไทยมีโอกาสขึ้นไปแตะ 1,680 – 1,700 จุด ช่วงปลายปี 64 ปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าฉีดวัคซีนหนุนกิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ฟันด์โฟลว์เริ่มกลับเข้าตลาดหุ้นอาเซียนและไทย ผลดีหุ้นขนาดใหญ่ พลังงาน แบงก์ ขนส่ง ส่วน REIT ไทยและสิงคโปร์ คาดสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก พร้อมจ่ายปันผล 6 กองทุน ทั้งหุ้นไทย-สินทรัพย์ทางเลือกมูลค่ากว่า 210 ล้านบาท

อาชวิณ อัศวโภคิน

นายอาชวิณ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยคาดว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 1,680 – 1,700 จุดได้ในช่วงปลายปี 2564 โดยปัจจัยหลักยังคงเป็นเรื่องความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเริ่มออกจากเอเชียเหนือโดยเฉพาะประเทศจีน เนื่องจากความกังวลเรื่องมาตรการควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่จากภาครัฐของจีน และกลับเข้ามาซื้อหุ้นในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทย ซึ่งจะเป็นส่งผลดีกับหุ้นขนาดใหญ่เช่นกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร หรือกลุ่มขนส่งได้เป็นอย่างดี

ถึงแม้ว่าเรื่องการลดวงเงินเชิงปริมาณ (QE Tapering) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป อาจจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความผันผวนชั่วคราวในระยะเวลาดังกล่าวได้ แต่คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจาก Fed ได้มีการสื่อสารให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง และราคาหุ้นในปัจจุบันก็ได้สะท้อนถึงปัจจัยดังกล่าวไปมากแล้ว

นายอาชวิณ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นไทยและกองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือกรวม 6 กองทุน มูลค่ากว่า 210 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 17 พ.ย. 2564 จำนวน 4 กองทุนหุ้นไทย แบ่งเป็น สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 พ.ค. 2564 – 31 ต.ค. 2564 จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุนปันผล (SCBDV) จ่ายในอัตรา 0.15 บาท (ครั้งที่ 28) รวมจ่ายปันผลแล้ว 19.24 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2546) ทั้งยังจัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Equity Large-Cap ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2564) และ SCBDV-SSF (ชนิดเพื่อการออม) จ่ายในอัตรา 0.12 บาท (ครั้งที่ 2) รวมจ่ายปันผลแล้ว 0.27 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ กองทุนมีแนวทางการบริหารเชิงรุก โดยการคัดเลือกหุ้นที่มีคุณภาพดีและมีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอในระดับที่น่าสนใจเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมีเสถียรภาพแก่นักลงทุนในระยะยาว พร้อมโอกาสรับกระแสเงินสดจากเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2564 – 31 ต.ค. 2564 จำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (SCBSE) จ่ายในอัตรา 0.15 บาท (ครั้งที่ 21) รวมจ่ายปันผลแล้ว 8.36 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2554) ทั้งยังจัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Equity Large-Cap ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2564) และ SCBSE-SSF (ชนิดเพื่อการออม) จ่ายในอัตรา 0.12 บาท (ครั้งที่ 3) รวมจ่ายปันผลแล้ว 0.32 บาทต่อหน่วย โดยกองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนด้วยวิธี Active Approach ด้วยการคัดเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุดและสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนในขณะนั้น ซึ่งจะใส่น้ำหนักการลงทุนมากน้อยตามความน่าสนใจของหุ้นนั้น และกองทุนจะลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30 ตัว จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงในระดับสูงได้

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอีก 2 กองทุน โดยกำหนดจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 19 พ.ย. 2564 นี้ ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ เฟล็กซิเบิ้ล (SCBPIND) สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2564 – 31 ต.ค. 2564 กำหนดจ่ายในอัตรา 0.0694 บาท (ครั้งที่ 7) รวมจ่ายปันผลแล้ว 0.9805 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่21 ส.ค. 2561) ทั้งยังจัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Property – Indirect Flexible ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2564) และ SCBPIN-SSF (ชนิดเพื่อการออม)

สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2564 – 31 ต.ค. 2564 และกำไรสะสม กำหนดจ่ายในอัตรา 0.1266 บาท (ครั้งที่ 2) รวมจ่ายปันผลแล้ว 0.2680 บาทต่อหน่วย โดยกองทุนเน้นลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานในไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้เปรียบด้านคาดการณ์กระแสเงินสดรับที่สม่ำเสมอจากค่าเช่าตามสัญญา เช่น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และคลังสินค้า เป็นต้น ปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดไทยประมาณ 35% สิงคโปร์ประมาณ 60% และเงินฝากหรือสินทรัพย์อื่นอีกประมาณ 5% (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2564)

นายอาชวิณ กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกยังคงเอื้อต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก ถึงแม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกอาจจะชะลอตัวลงบ้างในกลุ่มประเทศที่มีการกระจายวัคซีนได้ดีอย่างสหรัฐฯ หรือจีน แต่ยังคงขยายตัวได้สูงกว่าก่อนการระบาด COVID-19 อย่างไรก็ตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกคาดว่าอาจจะมีการปรับขึ้นไม่สูงมาก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นตลาดที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และราคาปรับขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้า

นอกจากนี้การลงทุนในช่วงที่ผ่านมาใน REIT ไทยและสิงคโปร์ นับว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ COVID-19 ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามการทยอยกลับมาเปิดประเทศจะเป็นตัวช่วยสร้างโอกาสการลงทุนใน REIT ไทยและสิงคโปร์ได้ โดยคาดว่าผลตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกจากราคาที่ปรับขึ้นน้อยกว่าในช่วงที่ผ่านมา