โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เราคงเคยได้ยินคำเตือนที่ว่า “อย่าโลภ” ถ้าไม่โลภก็ไม่ถูกโกง ซึ่งก็จริง แต่ทำไมหลายคนที่ไม่โลภ ไม่กลัว กลับเป็นเหยื่อของกลโกงทางการเงินได้ เหตุผลก็เพราะ “ความไม่รู้”
“ความไม่รู้” ก็คือ “ความไม่รู้” ไม่ได้หมายความว่า “โง่” คนละเรื่องกันเลย ไม่มีใครสามารถมีความรู้ทุกเรื่องไปหมดทุกเรื่อง ดังนั้น คนที่โดนโกงเพราะ “ความไม่รู้” ก็ไม่ต้องรู้สึกว่าตนเอง “โง่” และคนที่ยังไม่เคยโดนโกง ก็อย่าทะนงตนว่าตัวเองฉลาด เพราะวันหนึ่งไม่แน่ เราอาจจะโดนโกง เพราะ “ความไม่รู้” เช่นกัน
กลโกงทางการเงินที่อาศัย “ความไม่รู้”
กลโกงทางการเงินที่อาศัย “ความไม่รู้” มีไม่น้อยกว่า กลโกงที่อาศัย “ความโลภ” และ “ความกลัว” เลย เราลองมาดูตัวอย่างของกลโกงที่อาศัย “ความไม่รู้” กัน
โอนเงินผิด
มีหลายกรณีที่มิจฉาชีพใช้กลโกงโอนเงินผิด แล้วให้เราโอนคืนกว่าจะรู้ตัว เราอาจเป็นหนี้ หรือ ถูกอายัดบัญชี ตัวอย่างเช่น
• โอนเงินผิด มิจฉาชีพจะเริ่มจากการอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน หลอกถาม ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัวไป มิจฉาชีพจะเอาข้อมูลของเหยื่อไปเปิดใช้บริการ สินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ในนามเหยื่อ และเมื่อสินเชื่ออนุมัติเรียบร้อยจะมีเงินโอนเข้าบัญชีของเหยื่อ จากนั้น มิจฉาชีพจะติดต่อเหยื่ออีกครั้งเพื่อแจ้งว่ามีการโอนเงินผิดเข้าบัญชีเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืนกลับมาให้มิจฉาชีพ เมื่อเหยื่อตรวจสอบพบว่ามีเงินเข้าบัญชีจริง ก็จะรีบโอนคืนให้มิจฉาชีพทันที โดยไม่รู้ว่าตนเองมีหนี้เงินกู้ใน ระบบธนาคาร จะมารู้อีกครั้งก็เมื่อมีใบแจ้งหนี้จากสถาบันการเงินส่งมาถึงเหยื่อเพื่อให้ไปชำระเงินนั่นเอง
• มิจฉาชีพเอาชื่อและหน้าสมุดบัญชีเงินฝากของเรา ซึ่งอาจจะได้จากที่เราไปลงขายสินค้าในสื่อ online ที่อื่น อย่างเช่น ใน facebook เพจอื่น กลุ่มอื่น นำไปหลอกขายสินค้าให้ลูกค้า โดยแสดงรูปบัตรประชาชนและรูปหน้าบัญชีเงินฝากเรา เมื่อลูกค้าเห็นก็เกิดความเชื่อถือสั่งซื้อและโอนเงินเข้าบัญชีเรา มิจฉาชีพก็จะติดต่อเราเพื่อแจ้งว่ามีการโอนเงินผิดบัญชี ขอให้โอนเงินคืนกลับมาให้มิจฉาชีพ เมื่อเราตรวจสอบพบว่ามีเงินเข้าบัญชีจริง ก็จะรีบโอนคืนให้มิจฉาชีพทันที และเมื่อลูกค้าไม่ได้รับของ ติดต่อมิจฉาชีพก็ไม่ได้ สุดท้ายก็จะแจ้งความและอายัดบัญชีเงินฝากเรา บางทีก็จะเตือนกันในกลุ่มว่าเราเป็นมิจฉาชีพ (ทั้งที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย) กว่าจะรู้ตัว กว่าจะเคลียร์ปัญหาจบ เสียทั้งเวลา เสียทั้งชื่อเสียง
• มิจฉาชีพอาจสั่งซื้อของผิดกฎหมาย จึงเลี่ยงการถูกตรวจสอบเส้นทางโอนเงินด้วยการโอนไปที่บัญชีใครสักคน (ซึ่งอาจเป็นเรา) แทน กรณีนี้หากเราโอนเงินกลับไปให้ ก็อาจเข้าข่ายผู้กระทำความผิดตามไปด้วย
วิธีแก้ไขเมื่อการโอนเงินผิดเข้าบัญชีเรา
• ดังนั้นเมื่อมีคนที่ไม่รู้จักติดต่อมาว่ามีการโอนเงินผิดเข้ามายังบัญชีของเรา อย่ารีบร้อนขอเลขบัญชีเพื่อโอนเงินคืนให้โดยเด็ดขาด แต่ให้สังเกตว่า ผู้นั้นติดต่อมาเพื่อแจ้งรายละเอียดการโอนเงินผิดให้เราทราบเป็นหลัก หรือติดต่อมาเพื่อขอข้อมูลส่วนตัวจากเรา และเร่งรัดให้เราเป็นผู้โอนเงินกลับไปให้
• ถ้าเป็นการโอนเงินผิดจริง ผู้ที่จะโทรมาติดต่อเราควรเป็นเจ้าหน้าที่จากธนาคาร และต้องไม่เร่งรัดให้เราโอนเงินคืนกลับไปให้
• เมื่อได้รับการติดต่อเรื่องการโอนเงินผิดมาที่บัญชีของเรา สิ่งที่ผู้ติดต่อต้องแจ้งเราคือ ติดต่อมาจากธนาคารไหน มีรายการผิดปกติอะไรเกิดขึ้น เมื่อไหร่ ช่วงเวลาไหน จำนวนเงินเท่าไหร่ และเป็นการทำรายการผ่านช่องทางใด ที่สำคัญเมื่อพูดคุยกันเสร็จแล้ว ให้เราขอชื่อ – สกุล และเบอร์ติดต่อกลับของผู้ที่โทรหาเราไว้ด้วย จากนั้นขอเวลาตรวจสอบก่อนว่ามีการโอนเงินผิดบัญชีมาตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาจริงหรือไม่
• หลังจากวางสายแล้ว ให้ตรวจสอบบัญชีของเราก่อนว่ามีเงินโอนเข้ามาตามที่ได้รับแจ้งจริงหรือไม่ หากเรามี Internet Banking หรือ Mobile Banking ก็สามารถเข้าไปตรวจสอบรายการได้เลย แต่ถ้าไม่มี อาจสอบถามไปยัง Call Center ของธนาคารเพื่อตรวจสอบการโอนเงินให้ หากตรวจสอบแล้วมีการโอนเงินผิดบัญชีจริง ธนาคารจะติดต่อขอให้เรายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้ดำเนินการดึงเงินกลับไปยังบัญชีต้นทางให้ โดยเราไม่ต้องโอนด้วยตนเอง ซึ่งธนาคารจะแจ้งผลการทำรายการให้เราเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่หากเราเพิกเฉยไม่ยอมคืนเงิน อาจถูกฟ้องร้องข้อหาฉ้อโกงทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของตัวเองโดยเจตนาได้
• สำหรับใครที่กังวลว่า วันดีคืนดีอาจถูกเรียกตัวไปเรื่องรับโอนเงินจากมิจฉาชีพ เพื่อความปลอดภัย เราสามารถไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้อีกทางก็ได้เช่นกัน อย่างน้อยก็มีหลักฐาน ที่มาที่ไป ในความบริสุทธิ์ใจของเรา
ปลอมเป็นสถาบันการเงิน
มีหลายรูปแบบ เช่น
• ปลอมตัวเป็นธนาคาร เสนอบริการเงินด่วน อนุมัติไวแบบไม่มีหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 5%/เดือน สนใจติดต่อผ่านช่องทาง line วิธีสังเกต
o ดอกเบี้ยจะสูงมาก 5%/เดือน เท่ากับ 60%/ปี คืออัตราดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบ
o ช่องทางติดต่อจะไม่ใช่ช่องทางของธนาคาร แต่จะใช้ช่องทางส่วนตัว เช่น line หรือ ลิงค์ที่สร้างขึ้นมา
o มักจะติดต่อโดยใช้ช่องทางสื่อโซเชียล เช่น facebook ฯลฯ วิธีสังเกต มักจะไม่ใช่ชื่อจริง หรือ รูปโปรไฟล์จริง และมักเป็นหน้า facebook ที่เพิ่งเปิดไม่นาน ดังนั้นเราสามารถตรวจสอบได้ระดับหนึ่งด้วยการเข้าไปดูกิจกรรมบนหน้า facebook ที่ให้ไว้ เช่น มีกิจกรรมเยอะหรือไม่ มีเพื่อนเยอะหรือไม่ เปิดมานานยัง ฯลฯ
• ปลอมตัวเป็นธนาคาร โทรแจ้งว่าบัญชีของท่านถูก Hack และหลอกว่าจะนำข้อมูลไปปลดล็อคบัญชี พร้อมส่ง SMS แนบ Link เว็บไซต์ระบบยืนยันตัวตนปลอมหลอกให้ผู้เสียหายกดข้อมูล เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อได้กรอกข้อมูลส่วนตัวรวมถึงรหัส OTP คนร้ายจะนำข้อมูลของผู้เสียหายไปเข้าใช้งานระบบแอพพลิเคชั่นธนาคารที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีอยู่ จากนั้นโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหายได้
วิธีป้องกัน
• ไม่เปิดเผยข้อมูลที่ใช้พิสูจน์ตัวตนได้ เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต ฯลฯ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด (รวมถึงการถ่ายภาพแล้วส่งให้คนแปลกหน้าทาง LINE หรืออีเมล)
• หยุดการสนทนา ห้าม Add LINE เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพส่งหลักฐานปลอมต่างๆ โดยอ้างว่าเป็นหมายศาลหรือหมายจับ เพื่อให้เรื่องดูน่าเชื่อถือที่สุด และเมื่อเหยี่อหลงเชื่อ มิจฉาชีพก็จะสั่งให้เหยื่อดำเนินการตามที่ต้องการ นำมาซึ่งความเสียหายทางการเงินในที่สุด
• ให้ติดต่อสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยใช้วิธีติดต่อที่ระบุในเว็บไซด์ของสถาบันการเงินนั้นๆ เช่น ศูนย์บริการลูกค้า หรือ เบอร์โทรศัพท์กลางของสถาบันการเงิน
• ไม่เปิดเผยเนื้อหา SMS ในมือถือของตนเองกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะเมื่อถูกระบุว่าเป็น OTP เนื่องจาก OTP คือรหัสสำหรับทำรายการต่างๆ ที่ธนาคารส่งให้กับเจ้าของบัญชีเท่านั้น และเป็นรหัสยืนยันการทำรายการด้วยตนเอง โดยเฉพาะธุรกรรมด้านการเงิน
• อย่าหลงเชื่อทำธุรกรรมด้านการเงิน เช่น กด ATM / Mobile Banking / Internet Banking แม้แต่เปิดบัญชี หรือทำบัตร ATM ใหม่ ตามคำบอกของคนแปลกหน้า
ในชีวิตจริง ยิ่งในภาวะวิกฤติโควิด ปัญหาเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้ปัญหาอาชญากรรมรุนแรงและมีบ่อยมากขึ้น สิ่งที่ควรทำ ถ้าพบความผิดปกติ หรือคิดว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพให้ดำเนินการ ดังนี้
• ตรวจสอบข้อเท็จจริงความผิดปกติ และรีบติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.1213.or.th) หรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร ฯลฯ ในทันที เพื่อดำเนินแก้ไขปัญหา เช่น อายัดบัตร หรือบัญชีที่ถูกทุจริต
• รวบรวมหลักฐาน และรีบแจ้งความในทันที
สำหรับกลโกงทางการเงินยังมีอีกมากมาย สามารถศึกษาได้จาก เว็บไซต์ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.1213.or.th)
อ่านบทความอื่นๆ
📌 ติดตาม HoonSmart ผ่านช่องทาง
Website : www.hoonsmart.com
Facebook : https://www.facebook.com/HoonSmart
Line OpenChat : https://line.me/ti/g2/wEbsUcMaP2oP45XhK3vYhQ
Telegram : https://t.me/HoonSmart
Instagram : hoonsmart_ig
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCtZL62sDzYkq0WJNE11GrnQ
หุ้นสมาร์ทแฟนคลับ แลกเปลี่ยน พูดคุย
https://line.me/ti/g2/96otXLiCSBxAYgZuZATAAA?