ความจริงความคิด : กลโกงทางการเงิน 2


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

กลโกงทางการเงินจะอาศัย “ความโลภ” “ความกลัว” และ “ความไม่รู้” ดังที่ได้กล่าวในบทก่อนไปแล้ว เรามาดูกลโกงทางการเงินที่อาศัย “ความโลภ” ในการหลอกเงินออกจากกระเป๋าเรา กันต่อครับ

ดีจนเหลือเชื่อ (Fantastic promise)

ตัวอย่างของวิธีนี้ที่เราคุ้นเคยกันดี ก็คือ แชร์ลูกโซ่ (Ponsi scheme) ชื่อนี้มาจากเมื่อปี 1919 ในสหรัฐอเมริกา ชายผู้หนึ่ง “ชาร์ลส์ ปอนซี” (Charles Ponzi) ได้ออกเชิญชวนชาวบ้านให้มาลงทุนกับ Securities Exchange Company ของเขาโดยอ้างว่า ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินต้นภายใน 45 วัน หรือเพียง 3 เดือน ผู้ลงทุนก็จะได้เงินกำไรเท่ากับจำนวนเงินต้น และเพิ่มเป็นสองเท่าภายใน 6 เดือนเท่านั้น โดยเขาจะเอาเงินส่วนนี้ไปซื้อ “วิมัยบัตร” (international postal reply coupon) หรือคูปองที่สามารถเอาไปแลกแสตมป์ไปรษณีได้เท่ากับจำนวนที่ต้องใช้สำหรับการส่งจดหมายน้ำหนักไม่เกิน 20 กรัมไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) โดยจะไปเลือกซื้อวิมัยบัตรจากประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินถูกๆ แล้วเอามาขายต่อในประเทศที่มีค่าเงินแพงกว่า หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นการหากำไรจากส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน แต่จริงแล้วไม่มีการลงทุนอะไรเลย เพียงแต่นำเงินของสมาชิกรายใหม่มาให้สมาชิกรายเก่า แชร์ลูกโซ่จะถึงกาลอวสาน เมื่อห่วงโซ่หยุดลง คือ ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้ หรือ เงินที่ได้จากสมาชิกใหม่ไม่เพียงพอต่อการจ่ายให้สมาชิกเดิม

ในเมืองไทย คนไทยเริ่มรู้จักกลโกงหลอกลวงลักษณะแชร์ลูกโซ่ ตั้งแต่เมื่อปี 2527 จาก

แชร์แม่ชม้อย ของนางชม้อย ทิพย์โส อดีตพนักงานขององค์การเชื้อเพลิง ที่หลอกลวงให้นำเงินมาลงทุนซื้อรถขนน้ำมัน คันละ 1.6 แสนบาท โดยสามารถแยกลงทุนเป็นครึ่งคัน หรือ เป็นล้อ โดยจะได้รับผลตอบแทนใน 15 วัน ในอัตราเดือนละ 6.5 %

แชร์ชาเตอร์ของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่หลอกว่าไปลงทุนซื้อสินค้าโภคภัณฑ์และเงินตราต่างประเทศมาเก็งกำไร ให้ผลตอบแทนเดือนละ 9%

แชร์เสมาฟ้าคราม ของนายพรชัย สิงหเสมานนท์ หลอกว่าเป็นการลงทุนกับธุรกิจบ้านจัดสรร ให้ผลตอบแทน 12.5% ต่อเดือน
แต่เมื่อการหลอกลวงด้วยสินค้าโภคภัณฑ์ คนเริ่มรู้ทัน ประกอบกับพัฒนาการของธุรกิจและการลงทุนมีเข้ามาเรื่อยๆ แชร์ลูกโซ่ช่วงหลังๆก็มีพัฒนาการตามไปด้วย โดยหลอกเหยื่อว่าลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนหรือธุรกิจแบบใหม่ๆ อย่างเช่น

แชร์บลิสเชอร์ โดยบริษัท บลิสเชอร์อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ดำเนินธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือ Time Sharing โดยเปิดรับสมาชิกจำนวนมาก ผู้สมัครในชั้นแรกจะต้องจ่ายเงินจำนวน 30,000 บาท และจะมีสิทธิ์เข้าพักในโรงแรมต่างๆ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปี นาน 20 ปี ที่น่าสนใจก็คือ หากผู้สมัครจัดหาสมาชิกเข้าร่วมโครงการจะได้ค่าตอบแทนอีก 20% และหากสามารถจัดหาผู้สมัครรายอื่นเพิ่มเติมก็จะได้ค่าตอบแทนอีก 20%

แชร์ยูฟันด์ ที่ชักชวนบุคคลและประชาชนเข้าร่วมในเครือข่ายการประกอบธุรกิจน้ำผลไม้ และสมุนไพรกับเครื่องสำอางผิวหน้า โดยให้ผลตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายแต่ภายหลังหลอกลวงขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ U–TOKEN จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยอ้างว่าได้รับความนิยมและยอมรับในต่างประเทศซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

แชร์แม่มณี แม่ค้าขายตุ๊กตาออนไลน์ โดยชักชวนให้ร่วมเข้าลงทุนในโครงการ “ฝากเงิน ออมเงิน by บัญชีแม่มณี” ที่มีการโปรโมตผ่านมาทางเฟซบุ๊ก จำนวนวงละ 1,000 บาทโดยอ้างว่าได้ผลตอบแทนสูงถึง 93% ต่อเดือน

กดไลค์ ได้เงิน เป็นการหลอกลวงของบริษัทที่อ้างว่าทำธุรกิจรับจ้างกดไลค์ โดยใช้วิธีตั้งเงื่อนไขให้ผู้เสียหายต้องร่วมลงทุนขั้นต่ำคนละ 2 หมื่นบาท จะได้ 1 รหัส สำหรับกดไลค์โปรโมทได้ 1 ครั้ง และจะได้รับเงินค่าตอบแทนต่อการกดไลค์ครั้งละ 2,500 บาท ซึ่งจริงๆคือ การเอาเงินร่วมลงทุนนั่นล่ะมาหมุนจ่ายหลอกเหยื่อรายใหม่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเพิ่มเติมเป็นลำดับชั้นสำหรับผู้ที่ชักชวนผู้อื่นมาร่วมด้วย

ธุรกิจเครือข่าย หรือ ธุรกิจขายตรง
คือ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยมีผู้ขายตรงที่เรียกชื่อตามกฎหมายว่า ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรง หน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจขายตรง คือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย แต่เมื่อแชร์ลูกโซ่เริ่มมีคนรู้ทัน และ เริ่มหลอกลวงได้ยากขึ้น พวกมิจฉาชีพจึงได้มีการเปลี่ยนรูปแบบมาสวมรอยเป็นธุรกิจขายตรง แถมยังจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเสียด้วย วิธีสังเกต คือ

• ธุรกิจขายตรงที่ถูกกฎหมายจะเน้นขายสินค้า สินค้ามีคุณภาพ ราคาเหมาะสม มีการฝึกอบรมวิธีการขายสินค้า เน้นบริการหลังการขาย

• แชร์ลูกโซ่ที่สวมรอยธุรกิจขายตรง จะเน้นการสร้างสมาชิก ผลตอบแทนจะมาจากการสร้างสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า ใช้วิธีการหมุนเวียนเงินจากสมาชิกใหม่มาจ่ายสมาชิกเก่าในลักษณะแชร์ลูกโซ่

รวยง่าย ได้จริง
มาระยะหลัง การชวนลงทุนแบบ รวยง่าย ได้จริง เป็นกลโกงการเงินที่นิยม โดยอ้างว่าลงทุนในสิ่งที่อยู่ในความสนใจ เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ, อนุพันธ์} Venture capital, FOREX (การค้าเงินตราต่างประเทศ) , Bitcoin, ฯลฯ และมีระบบ AI คอยบริหารเงินลงทุนทำให้สามารถการันตีผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เช่น 30% ต่อวัน เป็นต้น แต่ก็มีแชร์ลูกโซ่บางที่เริ่มปรับผลตอบแทนลงมาให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เช่น 10-12%/ปี เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ที่เป็นข่าวดังเมื่อไม่นานมานี้ ก็คือ กรณี Forex3D ที่อ้างว่ามีทีมงานเทรดที่ดีที่สุดในโลก สามารถคาดการณ์การขึ้นลงของสกุลเงินตราต่างๆทั่วโลกได้อย่างแม่นยำ ผู้ลงทุนมีสิทธิ์ได้รับผลตอบแทนไป 10-15% ทุกเดือนๆ นอกจากนี้ถ้าแนะนำคนรู้จักให้เข้ามาลงทุนใน Forex 3D ก็จะได้รับผลตอบแทนจากการแนะนำเพื่อนมาลงทุนตั้งแต่ 5% ของปันผลของเพื่อนที่มาลงทุน

ล่าสุด เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับคนรู้จักเมื่อวานนี้เอง เป็นการหลอกผ่านโซเชียล มีเดีย (TIKTOK) ลักษณะการหลอกลวง คือ อ้างเป็นภารกิจการลงทุนแบบใหม่ ซึ่งน่าสนใจ ดังนี้

1.กลโกงโดยหลอกว่าจะนำเงินที่ลงทุนมาหมุนเวียนในตลาดสากลทำกำไรแบบเป็นวินาทีแต่ลูกค้าต้องทำภารกิจให้สำเร็จตามแบบแผนที่ระบบวางไว้ เมื่อทำภารกิจจบสามารถถอนเงินออกได้ทั้งหมดพร้อมผลตอบแทนสูงถึงประมาณ 30% ในเวลาไม่เกิน 5 นาที เป็นการลงทุนที่ง่ายได้ผลตอบแทนสูง

2.จะให้เราเริ่มลงทุนน้อยๆก่อน เพื่อนผมลงทุน 1,000 บาทได้เงินคืน 1299 บาทภายใน 5 นาทีจริงๆ เพื่อให้เชื่อว่าระบบการลงทุนนี้ทำได้จริง (วิธีนี้เป็นจิตวิทยาทางการเงินแบบหนึ่งที่เรียกว่า Representative Heuristic คือ การคาดคะเนโดยการเปรียบเทียบ เมื่อลงทุน 1000 แล้วได้เงินคืนพร้อมผลตอบแทนสูงจริง การลงทุนครั้งต่อไปก็น่าจะจริงด้วย)

3.จากนั้นก็ชักชวนให้เพื่อนผมลงทุนต่อด้วยเงิน 8,000 บาท(เป็นจิตวิทยาการเงินอย่างหนึ่ง เรียกว่า loss aversion คือ คนจะรู้สึกเจ็บปวดกับการสูญเสีย ความเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้น เมื่อความสูญเสียมีมากขึ้น ดังนั้นจึงให้เริ่มลงทุนน้อยๆก่อน เพราะความรู้สึกสูญเสียมีไม่มาก หลอกได้ง่าย) แต่เมื่อลงทุนเสร็จ ก็ไม่ได้รับเงินคืน โดยอ้างว่าต้องทำภารกิจต่อไปให้ครบถ้วน คือ โอนเงินเข้าไปอีก 60,000 บาท ไม่เช่นนั้นเงินที่ลงทุนไปแล้วจะสูญ (วิธีนี้เป็นจิตวิทยาทางการเงินแบบหนึ่งที่เรียกว่า Sunk cost fallacy คือ เราจะรู้สึกเสียดายกับต้นทุนหรือเงินที่เสียไป จนมีผลต่อการตัดสินใจให้ไม่สามารถตัดสินใจอย่างมีสติได้ และเป็น Loss aversion ด้วยเพราะเราจะเจ็บปวดอยากได้เงินคืน กลัวสูญเสียเงินที่ลงทุนไป ก็จะเชื่อ)

4.แต่เมื่อโอนเสร็จ ก็บอกว่าต้องทำภารกิจที่ 3 ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายอีก 70,000 บาทภายใน 3 ทุ่ม ไม่เช่นนั้นเงินทั้งหมดจะสูญ (วิธีนี้เป็นจิตวิทยาทางการเงินแบบหนึ่งที่เรียกว่า Sense of urgency วิธีนี้จะทำให้เรากระวนกระวาย ทำให้ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากขึ้น)

5.ตลอดกระบวนชักชวนลงทุนนี้ทำในกลุ่ม line โดยจะมีหน้าม้า 3-4 คนทำตัวเป็นคนเข้ามาลงทุนด้วย มีการโอนเงินตามภารกิจ โดยให้โชว์สลิปที่โอนเงิน และได้รับเงินคืนตามสัญญา (วิธีนี้เป็นจิตวิทยาทางการเงินแบบหนึ่งที่เรียกว่า Social proof เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เราโดยใช้สังคมรอบข้าง กรณีนี้คือคนที่ร่วมลงทุนด้วย เมื่อเราเห็นคนเหล่านี้ลงทุนแล้วได้เงิน เราก็จะเชื่อมั่นแล้วลงทุนตาม)

ด้วยความกลัวว่าจะสูญเงินที่ลงทุนไปสุดท้ายเพื่อนผมสามารถหาเงินลงทุนได้ทันกำหนดจริงๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 140,000 บาทเสร็จสิ้นภารกิจ แต่ไม่ใช่ภารกิจของเพื่อน แต่เป็นภารกิจของมิจฉาชีพ ปิดกลุ่ม line หนีหายไปเลย สุดท้ายต้องแจ้งความ แต่ก็คงไม่ได้เงินคืน

หมายเหตุ ปัจจุบันยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ใดประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยน ในลักษณะการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ดังนั้น หากมีบุคคลใดมาชักชวนให้ร่วมลงทุนในลักษณะดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ท่านอาจโดนมิจฉาชีพหลอกลวงและอาจได้รับความเสียหายได้ กรณีที่มีการชักชวนประชาชนให้ลงทุนในการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยที่ผู้ชักชวนดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลนั้น ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา 4 วรรคสองแห่งพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำหรับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ผู้ที่ให้บริการซื้อขาย แลกเปลี่ยน รับฝาก โอน ถอนเงิน หรือทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนอาจต้องรับโทษตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ผู้ซื้อขายสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตได้ที่ www.sec.or.th และแอปพลิเคชั่น “SEC Check First” นอกจากนี้ หากมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัย โปรดแจ้งที่สายด่วนศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร.1207 เพื่อการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

กูรู รู้ไม่จริง
นอกจากนี้ยังมีการหลอกลวงแบบเอาผิดทางกฎหมายได้ยาก อย่างเช่น การตั้งตัวเป็นกูรูสอนหลักสูตรเกี่ยวกับการลงทุน เช่น เทรด Forex เทรด bitcoin เทรดหุ้น ผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยมีค่าเรียนที่สูงเกินจริงไปมาก โดยไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง และทำให้เกิดการสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : กลโกงทางการเงิน 1

📌 ติดตาม HoonSmart ผ่านช่องทาง
Website : www.hoonsmart.com
Facebook : https://www.facebook.com/HoonSmart
Line OpenChat : https://line.me/ti/g2/wEbsUcMaP2oP45XhK3vYhQ
Telegram : https://t.me/HoonSmart
Instagram : hoonsmart_ig
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCtZL62sDzYkq0WJNE11GrnQ
หุ้นสมาร์ทแฟนคลับ แลกเปลี่ยน พูดคุย
https://line.me/ti/g2/96otXLiCSBxAYgZuZATAAA?